15 ม.ค.61 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวชี้แจงกรณีประเด็นข่าว พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม ได้เจรจาทางลับกับนักการเมืองกลุ่มชลบุรี เพื่อขอให้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขทางคดีที่บิดาของท่านเป็นนักโทษในกรมราชทัณฑ์ มีการแลกเปลี่ยนจนเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น
โดย นายธวัชชัย กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมยืนยันว่าการพักการลงโทษเป็นประโยชน์ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 52 (7) ที่พิจารณาให้นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความอุตสาหะก้าวหน้าในการศึกษาและทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษให้ได้รับโอกาสออกไปอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษา ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในสังคม หากไม่ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขอาจถูกจับเข้ามาคุมขังอีก ตามกำหนดโทษที่เหลืออยู่ โดยคณะกรรมการพักการลงโทษ ตามนัย ข้อ 91 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2553) ออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ประกอบมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งสิ้น จำนวน 15 ท่าน ทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบพักการลงโทษตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ซึ่งหากเป็นใน “กรณีปกติ” ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป อาจได้รับพักการลงโทษตามชั้น ดังนี้ “ชั้นเยี่ยม” ได้รับพักการลงโทษไม่เกิน 1 ใน 3 , “ชั้นดีมาก” ไม่เกิน 1 ใน 4 , “ชั้นดี” ไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด
สำหรับการพักการลงโทษ “กรณีมีเหตุพิเศษ” เป็นการพักการลงโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ซึ่งจะได้รับการพักการลงโทษมากกว่าการพักการลงโทษกรณีปกติ โดยคณะกรรมการพักการลงโทษจะต้องให้ความเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่ง ตามนัยข้อ 92 วรรคสาม แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2553) โดยปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พ.ศ.2560 โดยมีสาระสำคัญ คือ จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด กรณีเจ็บป่วยร้ายแรง นักโทษเด็ดขาดจะต้องมีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงซึ่งไม่สามารถรักษา ให้หายขาด และอาการอยู่ในระยะอันตรายอาจถึงแก่ความตาย เช่น ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง ระยะที่ 3 หรือระยะที่ 4 เป็นต้น โดยมีแพทย์ของทางราชการรับรอง 2 ท่าน
นอกจากนี้ กรณีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย และเหลือโทษจำต่อไปไม่เกิน 10 ปี โดยมีแบบประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน กรมอนามัย ซึ่งผู้ทำการประเมิน คือ เจ้าหน้าที่พยาบาลประจำสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม และผู้บัญชาการเรือนจำรับรองข้อมูล
ซึ่ง นักโทษเด็ดขาดชาย สมชาย คุณปลื้ม หรือ “กำนันเป๊าะ” ต้องโทษอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ปัจจุบันเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลตำรวจ เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม กระทำผิดรวม 2 คดี ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 28 ปี 4 เดือน ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษรวม 3 ครั้ง (ปี 58 และปี 59 รวม 2 ครั้ง) เหลือกำหนดโทษครั้งหลังสุด 10 ปี 18 เดือน 20 วัน ต้องโทษจำคุกมาแล้ว 4 ปี 9 เดือน 25 วัน เหลือโทษจำต่อไป 6 ปี 8 เดือน 25 วัน
เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า นักโทษเด็ดขาดชาย สมชายฯ มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เป็นนักโทษเด็ดขาด ชั้นเยี่ยม ต้องจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาด และอาการอยู่ในระยะอันตรายอาจถึงแก่ความตาย โดยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และแพร่กระจายไปที่ปอดระยะที่ 4 ทำให้มีอาการปอดบวม บางครั้งหยุดหายใจต้องให้ออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องต้องเสียชีวิต คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าอาการเจ็บป่วย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมีแพทย์ของทางราชการ 2 ท่าน รับรองอาการป่วย สภาพร่างกายไม่เอื้อต่อการกระทำผิดซ้ำ และมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยปัจจุบันมีอายุ 80 ปี และอยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ประชุมคณะกรรมการพักการลงโทษ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 30 พ.ย.60 คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษนักโทษเด็ดขาดชาย สมชายฯ และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.60 รมว.ยุติธรรม ได้อนุมัติพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โดยได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษจะไปพักอาศัยอยู่กับ น.ส.จิราภรณ์ คุณปลื้ม บุตรสาว อายุ 49 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ซึ่งต้องปฏิบัติตนตามเงื่อนไขการคุมประพฤติของสำนักงานคุมประพฤติจนกว่าจะพ้นโทษ ซึ่งมีระยะการคุมประพฤติ 6 ปี 8 เดือน 25 วัน ส่วนจำนวนครั้งหรือความถี่ในการรายงานตัวนั้นให้เป็นไปตามที่พนักงานคุมประพฤติจกำหนด
ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงขอยืนยันว่า การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษนักโทษเด็ดขาดชาย สมชายฯ นั้น เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่นักโทษทุกคนมีสิทธิได้รับ โดยที่ไม่มีวาระซ่อนเร้นตามประเด็นข่าวแต่อย่างไร
Cr.naewna
สำนักข่าววิหคนิวส์