เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ปลุกปฎิวัติประชาชน ! ปิยบุตร ปลุกอีกหวังปชช.ลุกฮือเป็นคอมมิวนิสต์

#ปลุกปฎิวัติประชาชน ! ปิยบุตร ปลุกอีกหวังปชช.ลุกฮือเป็นคอมมิวนิสต์

4 June 2020
1520   0

ประชาไท –  เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายออนไลน์หัวข้อ “การต่อต้านขัดขืนและการปฏิวัติ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ รำลึก 59 ปี ครูครอง จันดาวงศ์” จัดโดย กลุ่มรัฐศาสตร์ราษฎร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ คณะก้าวหน้า สกลนคร – Progressive Movement Sakonnakhon เพื่อรำลึกการจากไปของครูครอง จันดาวงศ์ นักสู้ต่อเพื่อประชาธิปไตย ผู้กล้าท้าทายต่อเผด็จการอย่างไม่เกรงกลัวต่อภัยใดๆ ณ ศูนย์การเรียนรู้ครูครอง จันดาวงศ์ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

สำหรับ นายครอง จันดาวงศ์ เป็นนักโทษทางการเมืองซึ่งถูกจับกุมในข้อหากบฏต่อความมั่นคงและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆ รวม 108 คน และถูกตัดสินให้ต้องโทษประหารชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม การสอบสวนมีเพียงการสอบสวนที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 20 วัน และถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่ อำเภอสว่างแดนดิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 พร้อมด้วยนายทองพันธ์ สุทธิมาศ โดย ก่อนหน้านี้ได้มีการประหาร นาย ศุภชัย ศรีสติ ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 และ ภายหลังจากนั้น มีการประหาร นาย รวม วงษ์ พันธ์ ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2505 โดยอาศัยอำนาจตามาตรา 17 เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้อ่านบทลงโทษอาศัยอำนาจคำตัดสินตามมาตรา 17 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนการประหารและนายครองได้เปล่งคำขวัญ เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ เป็นประโยคสุดท้ายของชีวิต

ภายในงานมีการบรรเลงบทเพลงปฏิวัติ อ่านบทกวีเพื่อการเปลี่ยนแปลง และพิธีสดุสดี ครูครอง จันดาวงศ์ วีรบุรุษสว่างแดนดิน โดยได้รับเกียรติจาก ลุงวิทิต จันดาวงศ์ บุตรชายคนโตของ ครูครอง จันดาวงศ์ ร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย ลุงวิทิตเล่าเรื่องประวัติชีวิตการต่อสู้ของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยและนักปฏิวัติผู้ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจเผด็จการอย่าง ครูครอง จันดาวงศ์ และกล่าวให้กำลังใจเยาวชนคนหนุ่มสาวให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปจนกว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

สำหรับการบรรยาย “การต่อต้านขัดขืนและการปฏิวัติปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวบางช่วงว่า เมื่อพูดถึงการเมืองเรามักจะพูดถึงการเมืองในประเด็นปัญหาว่าใครครองอำนาจ ? ใครใช้อำนาจ ? และรักษาอำนาจอย่างไร ? แต่ “การเมือง” ยังเชื่อมโยงกับเรื่อง “ความยุติธรรม” ด้วยซึ่งให้ความสำคัญกับอำนาจที่เป็นธรรม และจะทำอย่างไรให้อำนาจนั้นเป็นธรรมด้วย เราต้องทำให้ความยุติธรรมเข้าไปเชื่อมโยงกับอำนาจ เพื่อเอาอำนาจเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรม ความยุติธรรมต้องไปเชื่อมโยงกับอำนาจก็เพื่อให้อำนาจนั้นเป็นธรรม เอาอำนาจทำให้ความเป็นธรรมได้เกิดขึ้นจริงได้ในสังคม

ในขณะเดียวกันความยุติธรรมก็เข้าไปขัดแย้งกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ก่อน หากผู้ปกครองที่ครองอำนาจอยู่นั้นใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกดขี่เข่นฆ่า ข่มเหงรังแกประชาชน เมื่อนั้นความยุติธรรมก็จะขัดแย้งกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านั้น (Contradiction) และต่อสู้ช่วงชิงเพื่อสถาปนาอำนาจใหม่ที่เป็นธรรม ลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมการเมืองที่จะเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ปกครองมักใช้กลไกรัฐ เช่น กฎหมาย ศาล ทหาร คุก ตำรวจ และใช้กลไกทางอุดมการณ์ผ่านความเชื่อ ผ่านศาสนา ผ่านโรงเรียน หรือสื่อมวลชน เข้าไปจัดการเพื่อปราบปรามและครอบงำทำให้คนสยบยอมต่ออำนาจ และไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้ารุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม ทำให้คนไม่รับรู้ไม่สนใจความเป็นไปหรือเห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น แต่กลับเลือกที่จะเงียบและอดทนอยู่กับสังคมแบบนี้ต่อไป เพื่อความสุขสบายและความอยู่รอด

การจะทำให้คนในสังคมตื่นตัวลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ปิยบุตรนำอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำหรือ Allegory of the cave ของ Plato ซึ่งตีความใหม่โดยนักปรัชญาเมธีชาวฝรั่งเศสอแลง บาดิยู (Alain Badiou) เขาอธิบายว่า คนที่อยู่ในถ้ำทั้งชีวิตเห็นเพียงเงาจากกองไฟและเชื่อว่านี่คือความจริงสำหรับพวกเขา เมื่อวันหนึ่งที่เขาออกจากถ้ำแล้วพบว่าโลกที่เขาเห็นมาทั้งชีวิตนั้นเป็นเพียงเงาสะท้อนจากกองไฟเท่านั้น

โลกข้างนอกต่างหากคือความจริง เราจะกลับเข้าไปในถ้ำหรือไม่ ? หรือจะอยู่นอกถ้ำกับชีวิตสุขสบายกว่าเดิม บาดิยูเสนอให้เรากลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง เพราะการกลับเข้าไปในถ้ำคือการยืนยันความเป็นไปได้ใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า

ปิยบุตร ยังกล่าวว่า รัฐหรือผู้ปกครองเป็นผู้ผูกขาดและทำลายความเป็นไปได้และมักจะบอกว่าสิ่งที่เป็นอยู่เป็นเพียงความเป็นไปได้เดียวเท่านั้น ไม่มีความเป็นไปได้แบบอื่น เช่น เอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้ เพราะทหารคือผู้รักษาความสงบเรียบร้อย ยกเลิกเกณฑ์แบบบังคับเป็นไปไม่ได้ เพราะจะขาดแคลนกำลังพล แก้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นไปไม่ได้ รัฐสวสัดิการเป็นไปไม่ได้ นี่คือสิ่งที่รัฐหรือผู้ปกครองกำหนดความเป็นไปได้ให้เราเห็นได้เท่านี้ และทำให้เราเชื่อว่ามันเป็นได้แค่นี้

อแลง บาดิยู เสนอข้อความคิดเรื่อง “Evénement” หรือ Event ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า “เหตุการณ์” ว่าคือ บางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ความเป็นไปได้บังเกิดขึ้น ความเป็นไปได้นี้คือความเป็นไปได้ที่เราไม่เคยมองเห็นมันมาก่อน มันเป็นความเป็นไปได้ที่เราไม่เคยคาดหมายมันมาก่อน เป็นความเป็นไปได้ที่ดำรงอยู่ก่อนแล้ว แต่เราอาจจะละเลยหลงลืมมัน มองไม่เห็นมัน

“Evénement” หรือ Event จึงเป็นการทลายการผูกขาดการกำหนดความเป็นไปได้ของรัฐหรือผู้ปกครอง และเปิดพรหมแดนความเป็นไปได้ใหม่ๆ ปลุกเร้าให้มนุษย์จินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า ความเป็นไปได้เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ความเป็นไปได้ต้องอาศัยการทำงานการจัดตั้งการรณรงค์เชื่อมโยงทางความคิดต่างๆ และต้องมีความคิดหรือ Idea กำกับอยู่เพื่อให้ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจริง

เมื่ออำนาจที่เป็นอยู่นั้นไม่ชอบธรรม เราจึงต่อต้านขัดขืน สิ่งที่เป็นอยู่ทำให้ผู้คนเกิดความคับแค้นใจ แต่การต่อต้านขัดขืนอาจไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าได้ เมื่อสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ยุติธรรม เราต้องระเบิดความโกรธแค้นเข้าไปทำลายมันพร้อมๆ กับนำความหวังไปสรรสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นได้ นี่คือการปฏิวัติ หรือ Revolution