นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ฐานะผู้ร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. ฉบับประชาชนร่วมเสนอ 1.35แสนรายชื่อ นำเสนอรายละเอียดของเนื้อหาต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่า มีการตั้งคำถามว่าเมื่อยกเลิกวุฒิสภาจะทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลในสภาฯ หมดไป แต่ข้อเท็จจริงในเนื้อหาที่เสนอนั้นได้กำหนดรายละเอียดให้สภาฯ มีอำนาจเพิ่มเติม ทั้งการกำหนดให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้สิทธิดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ, กำหนดให้กรรมาธิการสามัญชุดสำคัญในสภาฯ ต้องมีพรรคฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการ นอกจากนั้นกำหนดให้ นายกฯ ต้องเป็นส.ส. รวมถึงตัดอำนาจนายกฯ ที่ต้องรับรองร่างกฎหมายที่เป็นกฎหมายการเงิน เนื่องจากพบว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสกัดการนำเสนอร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน
นายปิยบุตร ชี้แจงต่อการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า ประชาชนต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระมีความเป็นกลางจึงเขียนโครงสร้างให้มีที่มาโดยให้ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาฝ่ายละ 6คน รวมเป็น 18คน ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาคัดเลือกเหลือ 9คน ใช้มติ 2ใน3 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความถ่วงดุล เพราะมาจากตัวแทนรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาลฎีกาฝ่ายละ 3คน นอกจากนั้นกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิจารณาเฉพาะร่างพ.ร.บ.ใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือ การขัดแย้งระหว่างองค์กรเท่านั้น และให้ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีระบบถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้
นายปิยบุตร ชี้แจงด้วยว่า ในประเด็นการล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา279 ที่รับรองคำสั่งและการกระทำของคสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สร้างหลุมดำและรอยด่างพร้อยให้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาทำรัฐประหารกันจนเป็นประเพณี คิดว่าถ้ายึดอำนาจสำเร็จจะไม่มีวันถูกลงโทษ หรือดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของการทำให้การรัฐประหารเป็นโมฆะ ไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องถูกดำเนินคดี ป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีก ถ้ามีคนทำรัฐประหารถูกดำเนินคดี จะไม่มีใครคิดทำรัฐประหารอีก ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบสร้างกติกาเป็นกลาง ไม่ใช่เขียนกติกาเฉพาะคนชนะ กำราบฝ่ายแพ้ให้ราบคาบ
“ไม่เห็นเหตุผลที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบร่างแก้ไขฉบัยบประชาชน หากสมาชิกให้ความเห็นชอบวาระ 1 ความเห็นที่แตกต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงในวาระ 2 และถ้าผ่านวาระ 3ไปได้ ก็ยังมีหนทางร้องศาลรัฐธรรมนูญดังนั้นเห็นได้ว่าขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญยังอีกยาวนาน ผมขอให้ลงมติรับวาระหลักการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดประตูรับรับฟังประชาชน อีกทั้งเพื่อให้ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่รองรับการรัฐประหาร และกรณีการกำหนดโทษผู้ทำรัฐประหาร เพื่อไม่ให้เกิดการทำรัฐประหารขึ้นอีก ซึ่งเนื้อหาที่เสนอนั้นเป็นประโยชน์กับประเทศ” นายปิยบุตร ชี้แจง.