ประชาชนคนไทยตั้งหน้าตั้งตารอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีธรรมนัส พรหมเผ่า “มันคือแป้ง” เมื่อเวลาบ่ายสามที่ผ่านมา
.
หลายคนบอกว่า ไม่ได้คาดหวังว่าธรรมนัสจะหลุดจากตำแหน่ง
หลายคนบอกว่า พวกนี้ห้อยพระดีชื่อ “พระรอด” อย่างไรก็ไม่โดน
หลายคนบอกว่า แม้ไม่ได้คาดหวัง แต่ก็อยากจะฟังดู เผื่อมีปาฏิหาริย์
หลายคนบอกว่า อยากฟังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะให้เหตุผลออกช่องไหน
.
ประเทศไทย “นำเข้า” ศาลรัฐธรรมนูญมาจากประเทศเยอรมนี ตอนทำรัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านมากว่าสองทศวรรษ จนวันนี้ โมเดลศาลรัฐธรรมนูญไทยก็ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย ไม่สามารถเป็นสถาบันหลักของประเทศในการรักษาประชาธิปไตย รักษารัฐธรรมนูญได้
.
ตรงกันข้าม ทุกฝักฝ่ายต่างหยิบฉวยนำองค์กรและกระบวนการนี้มาใช้เป็น “เครื่องมือ” เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองของตน เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน
.
“ล้ม” การเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ 2 ครั้ง
“ปลด” นายกรัฐมนตรี 2 คน และ ส.ส.อีกหลายคน
“ยุบ” พรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคซึ่งส่งผลสำคัญในทางการเมือง 4 ครั้ง รวม 6 พรรค นักการเมืองกว่า 250 คน
“คว่ำ” กฎหมายอันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
“ขวาง” การแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 2 ครั้งครึ่ง
“เฉย” กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ฯลฯ
.
ตราบใดที่โครงสร้าง ที่มา และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญยังคงเป็นแบบนี้ เราก็จะมีโอกาสเจอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบทางการเมืองอีกมาก เราอาจได้เห็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ชวนตั้งคำถามสงสัย และเราก็ยังคงไม่เชื่อมั่นในระบบศาลรัฐธรรมนูญ
.
Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ เสนอโครงสร้างและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนี้
.
การแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเสนอมาที่ละ 3 รายชื่อ มายังรัฐสภาเพื่อเลือกให้เหลือ 3 คน, ส.ส. ฝ่ายค้าน เสนอ 6 รายชื่อ ให้รัฐสภาเลืกให้เหลือ 3 คน, และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เสนอ 6 รายชื่อ ให้รัฐสภาเลือกให้เหลือ 3 คน รวมทั้งหมดเป็นองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน
.
โดยผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงถึง 2 ใน 3 ของสภา สิ่งนี้จะป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารผูกขาดครอบครองศาลรัฐธรรมนูญได้ และไม่สามารถถูกยึดได้โดยฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล
.
เมื่อถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็จะได้เลิกคิดเรื่องการอยู่ฝักฝ่ายใด เพราะมาจากทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายศาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเท่าๆ กัน ก็จะเกิดการถ่วงดุลกันเองภายในองค์กรทุกครั้ง
.
นอกจากนี้เราเสนอให้เพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุล โดย ส.ส. 1 ใน 4 สามารถเข้าชื่อร่วมกัน หรือให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อ ให้มีการพิจารณาถอดถอนผู้พิพากษาและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ส่งให้สภาลงมติโดยใช้เสียง 3 ใน 5 เพื่อเสนอให้องค์คณะพิจารณาถอดถอน 7 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลปกครอง ส.ส. ฝ่ายค้าน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ร่วมพิจารณาถอดถอนโดยใช้เสียง 3 ใน 4
.
นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ มาจาก ส.ส. ฝ่ายค้านและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่างละ 5 คน ตรวจสอบการใช้งบประมาณของศาล วิเคราะห์ผลกระทบจากคำพิพากษาต่างๆ โดยให้ผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญคัดเลือกกันเองให้ 1 คนไปเป็นกรรมการตุลาการ (กต.) ศาลยุติธรรม และ 1 คนไปเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองโดยตำแหน่ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล
.
พี่น้องประชาชนเสียเวลา 15 นาที ไปกับการฟังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย
.
ขอช่วยกันสละเวลาอีกไม่ถึง 5 นาที เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงที่มาและองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ
.
เพื่อต่อไป เราจะได้มีศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง