เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ปิยบุตร ปลุกผี ! บี้เร่งปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ได้ ขณะหลบอยู่ฝรั่งเศส

#ปิยบุตร ปลุกผี ! บี้เร่งปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ได้ ขณะหลบอยู่ฝรั่งเศส

19 August 2021
567   0

   สำหรับ 10 ข้อเสนอแก้ไขหมวด 2 รัฐธรรมนูญ สู่ทางออกการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ ‘ปิยบุตร’ เสนอ ประกอบด้วย

1) มาตรา 6 กำหนดพระราชฐานะประมุขของรัฐ ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจและมีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์ที่คนในชาติยึดเหนี่ยวร่วมกัน

2) มาตรา 7 กำหนดตัวขอบเขตของพระราชอำนาจให้ชัด ว่ามีพระราชอำนาจในเรื่องอะไรบ้าง และต้องมีรัฐมนตรี หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องรับสนองพระบรมราชโองการอะไรบ้าง ให้สอดคล้องกับหลักการพระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำอะไรผิดเพราะว่ากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในทางการเมืองโดยแท้ ให้รัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ

3) ให้มีการเปลี่ยนสถานะและรูปแบบทางกฎหมายของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ให้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบของระบอบปัจจุบันแบบรัฐสมัยใหม่

4) ให้ยกเลิกองคมนตรี เพราะในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่แท้จริงคือรัฐบาล เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจเอง เพราะที่ผ่านมาองคมนตรีคนใดคนหนึ่ง เมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมจะทำให้กระทบกระเทือนถึงพระมหากษัตริย์ และเกิดการตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามไปด้วย

5) เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ ให้กลับไปเป็นแบบก่อนปี 2534 ที่ให้สภาพิจารณาให้ความเห็นชอบพระนามของผู้ที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อนได้ทรงแต่งตั้งไว้เป็นรัชทายาท หรือพระนามของผู้มีสิทธิสืบพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ในกรณีที่พระมหากษัตริย์องต์ก่อนมิได้แต่งตั้งองค์รัชทายาทเอาไว้

6) พระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับตำแหน่งต้องปฏิญาณตน โดยมีข้อความปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเคารพรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ให้เป็นสัญลักษณ์ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จะเคารพรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ก็เขียนเอาไว้เช่นนี้หมด

7) กระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้กลับมาเป็นก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวคือ ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกครั้งในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศ หรือไม่อาจบริหารพระราชภาระได้

การกำหนดเงินรายปีที่สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจพิจารณาอนุมัติให้แก่สถาบันกษัตริย์ใช้จ่าย ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ความจำเป็น และการปฏิบัติหน้าที่กษัตริย์ กำหนดว่าเงินรายปีจะใช้ครอบคลุมถึงเรื่องอะไรได้บ้าง และถูกตรวจสอบได้ โดยสภาและองค์กรตรวจสอบเงินแผ่นดิน

9) การลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ให้พระมหากษัตริย์ยังคงมีพระราชอำนาจลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง เฉพาะองค์กรผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในระดับรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่รัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระ

10) ยกเลิกอำนาจในการวีโต้กฎหมาย เพราะสภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนเมื่อตรากฎหมายออกมาแล้วเกิดพระมหากษัตริย์วีโต้ จะเกิดสภาวะที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลเพียงคนเดียว สามารถยับยั้งกฎหมายที่ผ่านผู้แทนราษฎรมาได้