วันที่ 20 ธันวาคม 2560 Pana Thongmeearkom – สำหรับคนเคยเรียน เคยสอน และเคยทำงานในด้านนิเทศศาสตร์มาตลอดชีวิต คำพูดของคุณดำรงถือได้ว่าเป็นภาพสะท้อนที่ชวนคิด เรื่องนี้แวดวงการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ควรได้นำไปพิจารณากันให้ดี
ความเป็นจริงในอุตสาหกรรมสื่อวันนี้ปฏิเสธกันยากว่าคนทำงานสายนิเทศศาสตร์มีปัญหา ทีวีดิจิทัลวันนี้ร่อแร่ ล่าสุดช่องวอยส์ทีวีเพิ่งประกาศลดคนหลังจากหลายสถานีปรับตัวไปก่อนหน้าแล้ว สถานะของหนังสือพิมพ์ที่ถือเป็นสื่อใหญ่วันนี้ก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน โฆษณาไม่เข้าขณะที่ยอดขายตกและบางเจ้าก็ถอดคนออกเช่นกัน ด้านนิตยสารล่าสุดขวัญเรือน ดิฉัน และคู่สร้างคู่สมที่ต่างเคยเป็นเจ้าตลาดพากันประกาศยุติการพิมพ์ ส่วนวิทยุที่เคยแห่กันเข้ามาทำจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนราวหมื่นสถานีวันนี้ลดเหลือห้าพันกว่าและยังทยอยกันปิดตัวหรือขอเลิกกิจการกับกสทช.
การปรับตัวของสถาบันการศึกษาอาจเป็นข่าวน้อยหน่อย แต่คนสอนหนังสือในสายนี้รู้ดีว่ากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ บางมหาวิทยาลัยควบรวมหรือปิดสาขาวิชาเพื่อลดต้นทุน ลดอาจารย์ลง และกดดันอาจารย์ให้หานักศึกษาเพื่อพยุงยอดเด็ก
วิกฤติที่วิชาชีพนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนประสบอยู่วันนี้ เหตุที่เห็นชัดที่สุดคือการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่าเป็น Disruptive Technology อินเทอร์เน็ต การหลอมรวมสื่อ การมีสื่อใหม่เกิดขึ้น ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนใช้สื่อของคนในสังคม นี่คือเหตุสำคัญทำสื่อต่างๆที่เคยมีบทบาทอยู่เดิมในสังคมประสบหายนะทางธุรกิจ แต่พิจารณาให้ลึกลงไปในธรรมชาติของมนุษย์และสังคม ถ้าถามว่าวันนี้คนไม่อ่านหนังสือ ไม่ดูหนังฟังเพลงกันแล้วหรือ ?
คำตอบคือคนก็ยังอ่านหนังสือ รับรู้ข่าวสารและแสวงหาความบันเทิงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่พวกเขาเปลี่ยนจากหนังสือกระดาษไปเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนจากดูจอทีวีเป็นจอมือถือ ไอแพด หรือคอมพิวเตอร์ วันนี้คนไม่ได้ค้นหาเรื่องน่าสนใจจากนิตยสารแต่ค้นจากกูเกิ้ล เข้าร่วมกับกลุ่มในอินเทอร์เน็ต และหาคลิปหาข้อมูลจากสื่อใหม่
พิจารณาในเบื้องลึกเถิด ความต้องการพื้นฐานด้านข่าวสารความรู้และความบันเทิงของคนก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่ที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงไปเป็นเพียงรูปแบบของสื่อและพฤติกรรมการใช้เท่านั้น ซึ่งทั้งสองประกอบกันแล้วก็คือ Disruption ในธุรกิจสื่อวันนี้
สิ่งจริงแท้คือสื่อเปลี่ยน คนเปลี่ยน แต่ความต้องการของคนไม่เปลี่ยน ความต้องการยังมีอยู่เหมือนเดิม ความคิดที่ว่า “ผมจะห้ามลูกเรียนนิเทศศาสตร์” ก็อาจเร็วไปหน่อยรึเปล่า? เพราะที่สุดแล้วเนื้อหา สาระ ความรู้ความบันเทิง ก็ยังเป็นของที่มีคนต้องการ และความต้องการของคนที่ว่ายืนยันได้จากปริมาณเนื้อหาสาระและข้อมูลต่างๆ ที่แพร่หลายท่วมท้นอยู่บนอินเทอร์เน็ตวันนี้… นี่เข้ากับสัจธรรมทางการตลาด ของที่มีคนต้องการย่อมต้องมีคนผลิตและมีการกระจายจ่ายแจก เพียงแต่รูปแบบของสินค้า บริการ และการจ่ายแจกนั้น อาจแตกต่างไปจากรูปแบบและวิธีการเดิมๆ ที่เคยรู้จักและเคยทำกันอยู่
สำหรับนักนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์ของวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่คือคนที่สังคมผลิตมาในยุคของสื่อเก่า วิธีคิดวิธีผลิตสื่อยังติดรูปแบบอนาล็อก มีคนจำนวนไม่มากที่สามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างที่เรียกกันว่าเป็นพวก Digital Immigrant .. สื่อเก่าและวิธีการอย่างเก่าๆ จึงตอบสนองคนรุ่นใหม่และสิ่งแวดล้อมใหม่ได้น้อย
โลกของสื่อดิจิทัลและการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตวันนี้ คนรุ่นใหม่เป็นพวก Digital Natives ส่วนคนรุนก่อนที่ปรับตัวได้ก็เป็น Digital Immigrantไป … พวกเขาเสพสื่อและรับสารจากสื่อใหม่ พวกเขาสื่อสารกันเองด้วยภาษาและไวยกรณ์ในยุคสมัยของพวกเขา ดังนั้นแม้ความต้องการพื้นฐานของพวกเขาจะยังคงเหมือนเดิม แต่สื่อและเนื้อหาที่พวกเขาต้องการก็แตกต่างไปจากเดิมมากแล้ว
ปัญหาวันนี้จึงวนกลับมาที่กระบวนการผลิตนักนิเทศศาสตร์ กระบวนการผลิตวันนี้ได้ปรับจิตสำนึกนักนิเทศศาสตร์ให้เป็นแบบดิจิทัลหรือเปล่า ? หรือว่ายังทำกันแบบเดิมที่เคยทำตามๆ กันมา
ถ้าวันนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังสอนนิเทศศาสตร์กันแบบเดิมๆ ด้วยครูที่มีจิตใจแบบอนาล็อก และหลักสูตรที่ออกแบบมาจากยุคอนาล็อก อย่าว่าแต่ คุณดำรง พุฒตาล เลย ที่นี่ก็คงจะบอกเหมือนกันว่า
“ผมจะห้ามลูกเรียนนิเทศศาสตร์”
สำนักข่าววิหคนิวส์