จากข่าวที่ปรากฏทั่วไปแล้วว่า ทางการไทยกับบริษัทไฟเซอร์บรรลุถึงข้อตกลงร่วมกันในหลักการ ที่จะมีการจัดส่งหรือนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 10,000,000 โดส เพื่อฉีดให้กับคนไทย โดยจะทยอยส่งให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2564 นั้น คงจะต้องมาทำความเข้าใจในหลักการ และข้อมูลบางประการ เพื่อจะได้เข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น
.
วัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทไฟเซอร์แห่งสหรัฐอเมริกา มีจุดโดดเด่นมาก ในเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงถึง 95%
.
ซึ่งเป็นการทดลองในเฟสสาม มีจำนวนอาสาสมัคร 40,000 คนเศษ (แต่เมื่อมีการฉีดในประชาชนจริงนับล้านคน ประสิทธิภาพก็ลดลงมาเป็น 91%)
แต่ด้วยข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของวัคซีนในช่วงแรก จึงทำให้ประเทศไทยต้องใช้เวลา ในการติดตามข้อมูลต่างๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสม ได้แก่
.
1) วัคซีนบริษัทไฟเซอร์ ใช้เทคโนโลยีใหม่เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งไม่เคยใช้ผลิตวัคซีนชนิดใดในโลกมาก่อนเลย ไม่มีใครสามารถรับประกันความปลอดภัยของวัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีแบบนี้ได้ แม้มีการทดลองฉีดกับอาสาสมัครเฟสสามก็เพียงจำนวนหลักหมื่นคน เมื่อฉีดจริงกับคนนับล้านคน จะมีผลระยะสั้นระยะยาวเป็นอย่างไร ไม่มีผู้ใดทราบ หรือให้การรับประกันได้ ทางบริษัทเองก็จะไม่รับประกันผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
.
2) การเก็บรักษาวัคซีนยุ่งยาก เนื่องจากวัคซีนซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของไวรัสที่บอบบางมาก รักษาคุณภาพให้คงที่ไว้ได้ยาก จึงต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก ระดับ -70 องศาเซลเซียส ต้องใช้ตู้เย็นที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษ ราคาสูงนับล้านบาท จะทำให้การกระจายวัคซีนไปตามโรงพยาบาลต่างๆเพื่อที่จะคงคุณภาพสูงเท่ากับที่ออกมาจากโรงงานเป็นไปได้ยาก
.
3) ราคาวัคซีนในช่วงแรกค่อนข้างสูง ประมาณ 20 เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับวัคซีนแอสตร้า ที่เราจะผลิตเองอยู่ที่ราคาเพียง 5 เหรียญสหรัฐ ส่วนวัคซีนของ Sinovac ราคา 17 เหรียญสหรัฐ ก็สั่งเข้ามาเป็นจำนวนเพียงพอที่จะฉีดก่อนที่วัคซีนแอสตร้าจะได้รับในเดือนมิถุนายน จึงสั่ง 2.5 ล้านโดส
.
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหกเดือน ก็มีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลหลายอย่าง ซึ่งทำให้วัคซีนไฟเซอร์มีความเหมาะสมและน่าสนใจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่
.
1) ผลข้างเคียงของวัคซีนจากเทคโนโลยีใหม่ ปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับว่า อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ คือในช่วงแรก พบการแพ้ที่รุนแรงแบบช็อค(Anaphylaxis) ในสหรัฐอเมริกา 11 รายต่อ 1,000,000 เข็มการฉีด และได้ลดลงเหลือ 4 รายต่อ 1,000,000 เข็มการฉีด และไม่มีผู้เสียชีวิตตลอดจนสามารถพิสูจน์ได้ว่า การเสียชีวิตของผู้สูงอายุในนอร์เวย์ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 33 ราย ไม่ได้เกิดจากวัคซีนโดยตรง
.
2) บริษัทไฟเซอร์ ได้เร่งพัฒนา ทำให้วัคซีนสามารถดูแลเก็บรักษาได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเก็บที่ -70 องศาเซลเซียสอีกต่อไป หากแต่สามารถเก็บในระดับ -20 องศาเซลเซียส เหมือนวัคซีนของบริษัท Moderna ได้
ซึ่งประเทศไทยมีตู้เก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสอยู่จำนวนมากพอสมควร ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทยังพัฒนาจนได้ข้อยุติว่า วัคซีนที่เก็บ -20 องศาเซลเซียสได้เป็นปีนั้น เมื่อนำออกมาเก็บในตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ก็ยังสามารถรักษาคุณภาพได้นาน 1-3 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงพอที่ประเทศไทยจะนำไปฉีดในจังหวัดต่างๆได้
.
3) ราคาวัคซีนมีแนวโน้มขยับมาสู่ผู้ซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาที่มีการตกลงกันในเบื้องต้นลดลงอย่างมาก น่าจะครึ่งหนึ่ง และที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นคือ ขณะนี้บริษัทไฟเซอร์อาจจะเป็นบริษัทแรกในโลก ที่มีผลการศึกษาทดลองอย่างเป็นทางการว่า สามารถฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดระบุให้ฉีดได้เลย
.
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากกรณีที่บริษัทไฟเซอร์ได้ทำความตกลงกับรัฐบาลอิสราเอล ให้ทดลองฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย เพื่อจะได้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตัวบริษัทเอง และกับประชากรโลก
เพื่อแลกกับการที่อิสราเอล จะได้รับวัคซีนจำนวนมากและรวดเร็วก่อนประเทศอื่น ทั้งนี้ต้องรับเงื่อนไข ราคาวัคซีนซึ่งสูงกว่าราคาตลาดไปด้วยพร้อมกัน และในขณะนี้อิสราเอล ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของบริษัท ที่จะให้ฉีดวัคซีนในเด็กอายุห้าขวบขึ้นไปด้วย
.
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ทางการของประเทศไทย สนใจวัคซีนไฟเซอร์มากขึ้น มีความเป็นไปได้และมีความเหมาะสมดังกล่าว โดยที่ได้มีการประสานกันมาหลายเดือน ในที่สุด ก็ได้ข้อยุติที่จะดำเนินการในหลักการ ที่จะจัดหาวัคซีน เหลือแต่การดำเนินการในรายละเอียดต่อไป
.
หลักการดังกล่าวได้แก่
1) วัคซีนที่จะดำเนินการคือ 10,000,000 โดส
2) ราคาวัคซีนนั้นจะต่ำกว่าราคาในอดีตคือ 20 เหรียญสหรัฐ
3) ทางบริษัทจะทยอยจัดส่งวัคซีน เริ่มต้นตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 (กค-สค 2564) และให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี 2564
.
ก็เป็นเหตุเป็นผล เป็นข้อมูลเพิ่มเติม ที่มีพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงไป ของวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ จนกระทั่งมีความเหมาะสม
1) มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
2) มีความสะดวกที่จะกระจายวัคซีนที่สามารถคงคุณภาพไว้ได้
3) ฉีดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปได้
.
และสามารถนำมาเสริมวัคซีนของ AstraZeneca 61,000,000 โดส วัคซีนของ Sinovac 2.5 ล้านโดสได้ และเป็นการเสริมคู่ขนานไปกับวัคซีนของรัสเซีย (Sputnik V) 10,000,000 โดส และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็จะมีวัคซีนที่จะเจรจาของ Johnson & Johnson และ Sinopharm รวมแล้วประมาณ 10-20 ล้านโดส ซึ่งก็น่าจะเพียงพอในสิ้นปีนี้ สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราต่อไป