ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ผู้ช่วยอธิการบดีนิด้า ตั้งคำถาม !! นิเทศศาสตร์จะตายแล้ว?

#ผู้ช่วยอธิการบดีนิด้า ตั้งคำถาม !! นิเทศศาสตร์จะตายแล้ว?

21 December 2017
1203   0

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิด้า ได้โพสข้อความทางเฟสบุ๊ค Warat Karuchit ระบุว่า ผมสอนคณะนิเทศศาสตร์มาสิบกว่าปี ในช่วง 7-8 ปีหลังนี้ คณะนิเทศปรับตัวหนักมาก ไม่ต้องให้ใครมาบอก หรือแม้แต่ให้เทคโนโลยีมาบังคับ แต่ยอด นศ. เป็นตัวบังคับอย่างดีที่สุด รวมทั้ง feedback จาก นศ. ก็เช่นกัน (โดยเฉพาะระดับ ป.โท) เชื่อว่าคณะนิเทศแทบทุกแห่ง พยายาม go digital ไปนานแล้ว ในการเอาสื่อดิจิทัลมาบูรณาการเข้ากับสื่อดั้งเดิม จากรายวิชา หรือภาควิชา สุดท้ายก็จะแทรกเข้าไปในทุกรายวิชา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คณะนิเทศทั่วประเทศทราบดี และมีการปรับปรุงหลักสูตรทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการตลอดเวลา แต่คนภายนอกอาจจะไม่ทราบ และคิดว่าสถาบันการศึกษาไม่ยอมปรับตัว แต่สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะคณะนิเทศนี่แหละ ที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบจาก Disruptive Technology มากที่สุด

แต่การปรับตัว ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ด้านหนึ่งต้องปรับตัว ปรับหลักสูตร กับสิ่งใหม่ที่เรายังไม่มีองค์ความรู้พอ อีกด้านหนึ่งต้องทำวิจัย ทำตำแหน่งวิชาการ อีกด้านหนึ่งต้องทำประกันคุณภาพหลักสูตรที่ไร้สาระ อีกด้านต้องดูแลนศ. ป.ตรี ก็ต้องดูแลกิจกรรม ป.โท-เอก ก็ต้องดูแลวิทยานิพนธ์ อีกด้านหนึ่งก็มีกรอบในการปรับปรุงหลักสูตรจากเกณฑ์ สกอ. มคอ. EdPex AUNQA (เช่น ข้อจำกัดในการใช้อาจารย์พิเศษจากภาควิชาชีพ) อีกด้านก็ต้องทำ CSR ประชาสัมพันธ์หลักสูตร และอื่นๆอีกหลายด้าน

พูดจริงๆ ผมไม่ห่วงว่าเด็กจะไม่เลือกเรียนนิเทศ ในทางกลับกันผมคิดว่าความนิยมของโลกโซเชียล จะยิ่งทำให้เด็กอยากเรียนนิเทศมากขึ้น แต่พวกเค้าจะไม่เลือกเรียนสาขาที่เค้าไม่คุ้นเคย เช่น หนังสือพิมพ์ แต่จะเลือกเรียนสาขาที่ใกล้ตัวเค้าและมีวิชาที่น่าเรียน เช่นสื่อดิจิทัล สื่อสารการตลาดออนไลน์ ซึ่งอาจจะอยู่ในคณะนิเทศ หรือคณะอื่นๆก็ได้ บาง ม. ที่มีสอนเรื่องนี้ มีคนสมัครล้นจนต้องคัดออกหลายเท่า

แต่สิ่งที่น่าห่วงจริงๆก็คือ ปัจจัยเอื้อให้คณะนิเทศต่างๆ ปรับตัวสู่สื่อดิจิทัลได้ดีเพียงใด ในแง่ของการสร้างบุคลากรออกไปสู่ตลาดดิจิทัล ซึ่งต้องมีพื้นฐานทั้งทักษะออนไลน์และออฟไลน์ หากไปเรียนคณะอื่นที่เน้นเทคโนโลยีอย่างเดียว ก็จะไม่ได้วิธีคิดเกี่ยวกับการสื่อสารและการเชื่อมโยงสองโลกนี้เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งนิเทศควรจะเป็นคณะที่สามารถสร้างทักษะนี้ได้ดีที่สุด และระบบการศึกษา ก็ต้องเอื้อให้คณะนิเทศปรับตัวได้เร็วด้วย ไม่ใช่เป็นปัจจัยขัดขวาง ต้องเข้ากล่องเข้าเกณฑ์อะไรที่ไม่ตอบสนองต่อความเป็นจริง อ่านข่าวคู่สร้างคู่สมแล้วยังแอบคิดว่า ถ้าคุณดำรงอยากจะทำต่อในออนไลน์ ผมก็เชื่อว่าทำได้ ถ้ามีคนที่มีทักษะเชื่อมสองโลกนี้ migrate ข้าม platform ไปได้ เพราะหัวใจหลักคือ content ยังมีอยู่ แต่หากคนไม่สนใจจริงๆ ก็ต้องกลับมาถามแล้วว่า content แบบเดิมยังใช้ได้อยู่หรือไม่ หรือว่าปัญหาอยู่ที่ format หรือ content ที่ไม่ตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน

 

และไม่ใช่นิเทศคณะเดียวที่ถูก disrupt แต่หลายสาขาวิชา ก็ถูก disrupt และมีแนวโน้มว่าจะหาทางปรับตัวได้ยากกว่านิเทศด้วยซ้ำ เช่นบัญชี เภสัช ท่องเที่ยว เกษตร และอีกแทบทุกสาขา ที่ถ้าสอนแบบเดิม ออกมาก็ลำบากอยู่ดี

สรุปแล้วจะเลือกเรียนคณะที่ชื่อ “นิเทศศาสตร์” หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ (บางทีคนที่บอกว่านิเทศศาสตร์จะตาย อาจจะยึดตืดกับชื่อมากเกินไป) สำคัญอยู่ที่ว่าความรู้ที่เรียนไปนั้นช่วยสร้างทักษะการทำงานสื่อสารกับ netizen ได้โดนใจมั้ย ถ้าดูแล้วทำไม่ได้ ก็ไม่น่าเรียน แต่ถ้าคณะนิเทศที่ไหน หลักสูตรไหนทำได้อย่างนี้ ถ้าลูกผมมาบอกว่าอยากเรียนนิเทศที่นี่ ผมก็ต้องบอกทันทีว่า “เอาเลยลูก”

 

สำนักข่าววิหคนิวส์