“อ.ยักษ์” เผย “บิ๊กตู่-ประจิน” ไฟเขียว สั่งกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย สนับสนุน “มูลนิธิข้าวขวัญ” พัฒนาน้ำมันกัญชา ห่วงผู้ป่วยมะเร็งได้รับผลกระทบ ลั่น ป.ป.ส.เลิกจับ ด้าน “อ.เดชา” ระบุ เร่งประชุมร่วม 9 หน่วยงาน หลังสงกรานต์ เพื่อวางแผนขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา พร้อมรับใบอนุญาต“หมอพื้นบ้าน” 17 เม.ย.นี้ ชี้ เป็นความสำเร็จของพลังภาคประชาชน ขณะที่ “วิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ” แจง มูลนิธิชีววิถีเตรียมแนวทางปกป้องสิทธิเกษตรกรที่รวบรวมพันธุ์กัญชา
จากกระแส #SaveDecha ซึ่งทั้งภาคประชาชน นักวิชาการจากหลากหลายองค์กร ตลอดจนนักการเมือง ต่างออกมาร่วมปกป้อง นายเดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิข้าวขวัญ และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ดำเนินคดีกรณีมีกัญชาและสารสกัดจากกัญชาไว้ในครอบครอง ปรากฏว่าล่าสุด “คดีพลิก” รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆออกมาประกาศให้การสนับสนุนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาจากภูมิปัญหาแพทย์แผนไทย
นายกฯสั่ง หยุดจับ !
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “อาจารย์ยักษ์” เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เกี่ยวกับกรณีการดำเนินคดีกับมูลนิธิข้าวขวัญซึ่งผลิตและแจกจ่ายน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 9 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อ.ประจิน ต่างเห็นตรงกันว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนมูลนิธิดังกล่าว เนื่องจากเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย หากมีการจับกุมและสั่งให้มูลนิธิข้าวขวัญหยุดผลิตน้ำมันกัญชาก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการใช้ยาในการรักษา
ขณะที่ทางมูลนิธิข้าวขวัญนั้น หลังจากประธานมูลนิธิข้าวขวัญได้เข้าพบและพูดจาทำความเข้าใจกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เขาก็พ้นข้อกล่าวหา อีกทั้งโครงการน้ำมันกัญชายังได้รับการสนับสนนจาก ส.ป.ส.อีกด้วย
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า ครั้งนี้ต้องบอกว่าเราได้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คือนอกจาก ป.ป.ส.จะเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการและไม่มีการจับกุม พร้อมทั้งแนะนำช่องทางในการแจกจ่ายยาแก่ผู้ป่วยแบบถูกกฎหมายโดยให้ดำเนินการในรูปแบบของงานวิจัยแล้ว ยังให้การสนับสนุนโครงการโดยจะนำกัญชาของกลางที่ได้จากการจับกุมมาให้ทางมูลนิธิฯใช้ในการผลิตน้ำมันกัญชา ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแลิตยา และทำให้สามารถคัดเลือกกัญชาที่คุณภาพดีได้ซึ่งต่างจากกัญชาที่ซื้อซึ่งไม่สามารถเลือกได้ ขณะเดียวกันเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายตนก็ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะไปยื่นขอขึ้นทะเบียนแพทย์พื้นบ้าน ที่กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ในวันที่ 17 เม.ย.นี้
“ ป.ป.ส.แนะนะว่าให้มูลนิธิแจกจ่ายน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งในรูปแบบของโครงการวิจัย โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการรักษาหรือผลลัพธ์ได้จากการใช้น้ำมันกัญชาของผู้ป่วยมาเป็นเครื่องรับรองประสระสิทธิ ซึ่งทำให้การแจกน้ำมันกัญชาที่สรรพคุณด้านหนึ่งเป็นสารเสพติดเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายเดชา กล่าว
นายวิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวเสริมว่า ในวันที่ 17 เม.ย. หลังจากที่นายเดชาขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านเรียบร้อยแล้ว มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายที่สนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา จะร่วมกันแถลงถึงแนวทางปฏิบัติของหมอพื้นบ้านเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองและผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาเพื่อให้หมอพื้นบ้านทั่วประเทศที่มีความสนใจในการใช้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชามีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกรอบกฎหมาย
ทั้งนี้จากคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาก็นำไปสู่ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆอย่างรวดเร็ว โดยนายเดชา เปิดเผยว่า หลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีประชุมหารือเพื่อวางแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา ระหว่างตัวแทนมูลนิธิข้าวขวัญ ,องค์กรเภสัชกรรม ,โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ,คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต , มูลนิธิชีววิถี (BioThai) , มูลนิธิสุขภาพไทย และ ป.ป.ส.เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา รวมถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะนำศักยภาพและความเชี่ยวชาญของตนเองมาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ จึงเชื่อว่าจากความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาของไทยเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยอย่างเต็มที่
ด้าน นายวิฑูรย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงรายละเอียดในการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ในการประชุมจะแบ่งภารกิจกันดังนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุม ในส่วนของมูลนิธิชีววิถีนอกจากจะรับหน้าที่ประสานงานในการจัดประชุมแล้วทางมูลนิธิจะเน้นในเรื่องการดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้รวบรวมสายพันธุ์กัญชาของไทย อาทิ เมื่องานวิจัยผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชานำไปสู่การจดสิทธิบัตร เจ้าของสายพันธุ์ก็จะได้รับการคุ้มครองด้วย และเมื่อนำกัญชาสายพันธุ์ใดมาวิจัยแล้วผลการวิจัยต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของบุคลหรือบริษัทผู้ผลิต
สำหรับมูลนิธิสุขภาพไทยจะดูแลในเรื่องเครื่องข่ายหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการประสานงานให้บรรดาหมอพื้นบ้านเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการครอบครอง ผลิต และใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาอย่างถูกต้องชัดเจน ขณะที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาสายพันธุ์ไทย รวมทั้งความร่วมมือทางวิชาการอื่นๆ ด้านคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษารวบรวมเรื้องการใช้ประโยชน์กัญชาเพื่อการแพทย์ทั้งจากงานวิจัยในต่างประเทศและจากภูมิปัญญาการแพทย์ของไทย ส่วนโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะร่วมกับมูลนิธิข้าวขวัญในการวิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์