นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ให้ความเห็นทางวิชาการกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ว่า กระบวนการยุติธรรมมีหลายระดับ อันได้แก่กระบวนการยุติธรรมของเอกชน เช่น ประชาชนกับประชาชนมีข้อพิพาทในทางแพ่ง ในทางแรงงาน ในทางนิติกรรมสัญญา ในทางข้อขัดแย้งคดีผู้บริโภค คดีพาณิชย์ คดีภาษีอากร และคดีต่างๆ ในทางแพ่งก็จะใช้กระบวนการพิจารณาที่มีเฉพาะ ในส่วนคดีอาญาก็เป็นเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา หรือที่เรียกว่ากฎหมายมหาชน เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ประกอบด้วยศีลธรรมอันดี และการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติข้อห้ามทางกฎหมายที่มีบทบัญญัติลงโทษในทางอาญา ก็จะมีวิธีพิจารณาในทางอาญาเป็นบทกฎหมายที่ ใช้ระงับข้อพิพาทในทางอาญา
สำหรับข้อพิพาทในคดีที่ใช้กฎหมายมหาชน โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎกติกาที่ใช้บังคับในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ระบุถึงวิธีการใช้อำนาจ การแบ่งแยกอำนาจ และการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น หากมีความขัดแย้งความไม่เห็นตรงกัน หรือการตีความขัดกันในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีกลไกและวิธี ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญโดยผ่านทางองค์กรต่างๆ ที่จะวินิจฉัย และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและต้องยุติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น
เช่นการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่และมีผลอย่างไร เช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหน้าที่ในการรับวินิจฉัยคดีดังกล่าว กรณีเช่นนี้ก็ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมในชั้นความขัดแย้งเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกฎกติกาและวิธีพิจารณาความเกี่ยวกับคดีรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง กลไกต่างๆ ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถือว่าเป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือว่าถูกต้องและยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ก็เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีระบบการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อขจัดข้อขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างกันในทางการเมือง เพื่อให้เรื่องที่ขัดแย้งนี้ยุติกันอย่างสันติวิธี เรื่องเช่นนี้ มิใช่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องที่น่าตกใจแต่อย่างใด เพราะอารยประเทศและนานาประเทศก็ใช้กระบวนการยุติธรรมเช่นนี้อย่างเดียวกัน
สำหรับเรื่องการที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อรับฟังพระราชดำรัสของในหลวง วันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการให้คำแนะนำฝ่ายบริหารให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ ในฐานะองค์พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์มิได้อยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่เป็นการบังควรที่จะนำเรื่องนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยต่อไป เพราะถือเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะเสนอข่าวในลักษณะคาดเดาหรือคิดเอาเองว่าเรื่องจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่เป็นการบังควรที่จะนำเรื่องการที่ พระมหากษัตริย์พระราชทานคำแนะนำแก่ฝ่ายบริหารมาปะปนกับเรื่องคดีเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะประเทศประชาธิปไตยทั่วไปก็มีแนวทางและกระบวนการดำเนินไป ตามการเมืองการปกครองประชาธิปไตยที่กระทำกันอยู่ทั่วโลก
การที่หลังจาก ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสให้กำลังใจและแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารนั้น นับว่าเป็นพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ที่จะให้โอวาท ให้กำลังใจและแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารเพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชน ซึ่งถือเป็นพระราชประเพณีที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้มาแทบทุกสมัย ทุกรัชกาล ในโอกาสที่ฝ่ายบริหาร หรือ ข้าราชการระดับสูง บางประเภทเช่น ศาล อัยการ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ พระมหากษัตริย์ก็มีพระราชอำนาจในการอวยพรให้กำลังใจและแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชน รวมถึงการที่ ครม. ชุดนี้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทาน พระกระแสดำรัสไปครั้งนี้ ก็เป็นโบราณราชประเพณีที่กระทำมาในหลายรัชกาลของพระมหากษัตริย์ไทยแทบทุกพระองค์ รวมทั้งการเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม. ในหลายๆ คราวที่ผ่านมา ก็มีพระราชกระแสเช่นนี้ ดังนั้นฝ่ายการเมืองและประชาชน จึงไม่บังควรที่จะนำเรื่องนี้ไปยุ่งเกี่ยวหรือปะปนกับกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ควรจะนำไปตีความว่าพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องวิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะพระองค์จะไม่ทรงเข้ายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้
ส่วนกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะต้องไปดำเนินการผ่านศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีองค์กรอิสระ หรือสภานิติบัญญัติเป็นผู้ส่งเรื่องไปนั้น ก็เป็นกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีกฎกติกากำหนดไว้โดยชัดเจนและเรียบร้อย เป็นไปตามระบอบการเมืองการปกครองประชาธิปไตยสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศทั่วโลกกระบวนการนี้เรียกว่าดูโปรเซส หรือการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ในประเทศที่ใช้กฎหมายปกครองหรือที่เรียกว่า นิติรัฐ คือประเทศที่ใช้กระบวนการยุติธรรม มีกฎหมายเป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองที่ชัดเจน และเป็นบรรทัดฐาน
“ฝ่ายการเมืองก็ดีหรือประชาชนไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์และนำเรื่องดังกล่าวไปคาดการณ์คาดคะเนหรือพูดคุยเป็นข่าวลือในทางที่ไม่ดีหรือเสียหาย เพราะสิ่งนี้ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีรัฐธรรมนูญและกฎกติกาในลักษณะของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปยุ่งเกี่ยวปะปนกับเรื่องความถูกผิดของกระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม.ชุดนี้ และไม่ควรบังอาจไปถือเอาว่าพระมหากษัตริย์ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับความถูกผิดของการถวายสัตย์ปฏิญาณในครั้งนี้ด้วย” นายศรีอัมพร กล่าวย้ำ.
Cr.thapost
สำนักข่าววิหคนิวส์