ทุกอย่างมีปาฏิหาริย์ได้ เพราะการศึกษาคือนวัตกรรม
ผมได้รับข้อความจากพี่ประสาร มฤคพิทักษ์ เรื่องโรงเรียนแก้จนเมื่อหลายวันก่อนด้วยความสนใจ ความว่า “เมล่อน ผลละ 9,999 บาท : ฝีมือเกษตรกรน้อย นักเรียนชั้นประถม”
โรงเรียนวัดใหญ่จอมปราสาท ต.ท่าจีน อ.เมือง สมุทรสาคร มีนักเรียน ป.1-6 กว่า 200 คน ในที่นี้เป็นเด็กเมียนมาร์กว่า 150 คน เป็นโรงเรียนที่คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เลือกมาจากทั่วประเทศ จำนวน 108 โรงเรียน และได้รับการกลั่นกรองเป็น 1 ใน 20 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) กับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565
โครงการแปลงเกษตรของเกษตรกรตัวน้อยๆ คือปลูกเมล่อนในโรงเรือน ณ วันนี้ให้ผลผลิตอย่างยอดเยี่ยม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ทาง โรงเรียนได้ จัดงาน “เมล่อนของพี่เติมรอยยิ้มให้น้อง” มีนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัด และภรรยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เจ้าอาวาส ผู้ปกครองและชาวบ้านกว่า 200 คนร่วมงาน
เด็กและครูพาแขกชมโรงเรือนเมล่อน แล้วร่วมกันซื้อเมล่อนราคาพิเศษจากลูกละ 200-300 บาท สามารถประมูลขายได้สูงถึงลูกละ 9,999 บาท ทำให้โรงเรียนมีรายได้ในวันนั้น 310,000 บาท นับเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน
นี้คือผลงานของเด็กนักเรียนชั้นประถมที่ร่วมกันลงเหงื่อออกแรงอย่างน่าภาคภูมิใจ ทางโรงเรียนและเด็กๆ ตกลงใจกันที่จะใช้เงินจำนวนนี้ไป
1. ปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้มีอุปกรณ์และพื้นที่เอื้ออำนวยต่อเด็ก
2. ทำโรงเรือนเมล่อนเพิ่มอีก 1 โรง และ
3. ทำแปลงเกษตร “ปลูกองุ่น”
ตอนที่จะเริ่มปลูกเมล่อนนั้น คนในพื้นที่สงสัยว่า “จะปลูกเมล่อนได้หรือ เพราะไม่เคยปลูกกันมาก่อน ผลงานครั้งนี้ให้คำตอบแล้วว่า เด็กนักเรียนเมียนมาร์เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ และขยันขันแข็งมาก
คุณนริสรา พ่วงกองนะ ผอ.โรงเรียน บอกว่า “ขอบคุณทุกๆ คน โดยเฉพาะมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ถ้าไม่มีทั้งสององค์กรนี้ โรงเรียนก็ไม่รู้จะไปทางไหน?
ผมได้รับทราบข่าวนี้ด้วยความยินดีและด้วยความตื้นตันใจกับความเสียสละของทุกคนที่กำลังช่วยกันสร้างทรัพยากรมนุษย์บนผืนแผ่นดินไทย ร่วมกัน
งานสร้างคนเป็นงานที่ยาก เพราะการสร้างคนแท้ที่จริงแล้วคือการสร้างชาตินั่นเอง ครูต้องมีความรักและจิตวิญญาณที่มีความเสียสละสูงมาก เป็นงานที่ต้องทำทุกๆ วัน และเฝ้าดูความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
ที่เราสามารถมองเห็นดอกผลความสำเร็จของเด็กนักเรียนในโรงเรียนมีชัยพัฒนาหรือที่ผมมักเรียกว่าโรงเรียนแก้จนได้ในทุกๆวัน ก็เพราะว่าเด็กนักเรียนของเราแตกต่างจากเด็กนักเรียนทั่วไปในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ คือเด็กนักเรียนของเรา “คิดเป็น” แต่เด็กนักเรียนทั่วไป “คิดไม่เป็น” เด็กนักเรียนของเรามีระเบียบวินัย แต่เด็กนักเรียนทั่วไปไม่ค่อยมีระเบียบวินัย เด็กนักเรียนของเรามีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน ส่วนเด็กทั่วไปไม่มี และไม่เคยรู้จักว่าการมีส่วนร่วมเช่นว่านี้คืออะไร
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเด็กนักเรียนของเราอยู่ในระบบที่ทำให้เขา “คิดเป็นและทำเป็น” และ “พึ่งตนเองได้” ส่วนเด็กนักเรียนทั่วไปของประเทศเรา “คิดไม่เป็นและทำไม่เป็น” มิใยต้องพูดถึงการพึ่งตนเอง
ในทางปรัชญาแล้ว เด็กนักเรียนของเราอยู่ในกระบวนการสร้างให้เป็น “ผู้กระทำ” (Active) ส่วนเด็กนักเรียนทั่วไปของประเทศเรา อยู่ในกระบวนการถูกสร้างให้เป็น “ผู้ถูกกระทำ” (Passive)
ความแตกต่างของกระบวนการศึกษาแบบนี้คือ เด็กนักเรียนของเราจะสามารถรักษา “จินตนาการ” ของตนเองเอาไว้ได้ โดยไม่สูญเสียไปจากระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ในขณะที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศไทยถูกควบคุม และค่อยๆถูกทำลายการใช้จินตนาการในการเรียนไปทุกๆปี จากกระบวนการการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ในระยะยาวแล้วเด็กนักเรียนสองกลุ่มนี้จะมีศักยภาพในการคิดและมีคุณภาพในการทำงานที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
Albert Einstein เป็นนักคิดและนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นบุคคลที่เฉลียวฉลาด และปราดเปรื่องมากที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาได้ให้แง่คิดอย่างสำคัญแก่เราในเรื่องของจินตนาการกับความรู้ว่า
“ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ความรู้ที่เป็นความจริง ที่เราใช้เรียนใช้สอนกันอยู่นั่น จะมีอายุอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ในไม่ช้าความรู้ใหม่ ทฤษฎีใหม่และความเป็นความจริงใหม่จะเข้ามาแทนที่ความรู้ดั้งเดิมของมนุษย์เสมอไป ความรู้เรื่องหนึ่งๆจึงมีวันหมดอายุ
แตกต่างจากจินตนาการของมนุษย์นั้นมีไม่จำกัด และไม่มีพรมแดนสิ้นสุด จินตนาการเป็นที่มาของความรู้ใหม่ ทฤษฎีใหม่และความจริงใหม่เสมอไป และจินตนาการจะอยู่ข้างหน้าความรู้เสมอไปเช่นกัน
กระบวนการเรียนแบบโรงเรียนมีชัยพัฒนาที่กระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลากับการเรียน ทำให้เด็กนักเรียนของเราแตกต่างจากนักเรียนทั่วไปที่ถูกสอนให้แต่ท่องจำ
ผมเห็นว่าการฝึกฝนให้เด็กนักเรียนหัดตั้งคำถาม ทำให้เด็กนักเรียนฉลาด ส่วนการสอนให้เด็กท่องจำ ทำให้เด็กนักเรียนโง่ และขาดจินตนาการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิตอยู่ในโลกสมัยใหม่
สิ่งที่ผมอยากจะฝากทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็คือ เมื่อเด็กนักเรียนกลุ่มนี้เรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ขอให้ช่วยกันคิดและช่วยกันสร้างโอกาสให้พวกเขาได้มีช่องทางสำหรับการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนมีชัยพัฒนาต่อไปด้วย
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
21 กุมภาพันธ์ 2566