ไลฟ์สไตล์ » สุขภาพ » #ฝุ่นพิษถล่มเชียงใหม่ทำเศรษฐกิจสูญหมื่นล้าน PM 2.5 ผู้ป่วยพุ่ง 100% จี้รัฐใช้กฎหมายเข้มงวด

#ฝุ่นพิษถล่มเชียงใหม่ทำเศรษฐกิจสูญหมื่นล้าน PM 2.5 ผู้ป่วยพุ่ง 100% จี้รัฐใช้กฎหมายเข้มงวด

18 March 2019
915   0

ฝุ่นพิษถล่มเชียงใหม่ทำเศรษฐกิจสูญหมื่นล้าน เผยปี’62 ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่ง 30-100% ชี้ PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง อายุขัยสั้นลง การเสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น เจ็บป่วยขั้นรุนแรงสูงขึ้น เผย 4 โรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด ล้วนเป็นโรคที่สัมพันธ์กับมลพิษทิ้งสิ้น จี้รัฐยกเป็นนโยบายระดับประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข ดันบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า (13 มีนาคม 2562) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดบรรยายเรื่อง “มหันตภัยฝุ่นพิษถล่มเมือง” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร 50 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีแพทย์ พยาบาล บุคคลากร นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษจากฝุ่นควันที่มีความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ทั้งนี้ นับจากสถานการณ์ฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงขณะนี้ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 30% และคาดว่าในช่วงระยะ 3-5 เดือนของสถานการณ์ฝุ่นควันพิษจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้นถึง 100%

ทั้งนี้ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เคยทำการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่นควันพิษ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และด้านสุขภาพ พบว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ มีมูลค่าความเสียหายต่อปีราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นควันพิษในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จะเกิดขึ้นในระยะเพียง 1 – 2 เดือน แต่ปัจจุบันได้กินเวลายาวนานขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 – 5 เดือน

โดย PM 2.5 ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี จะทำให้ประชาชนที่เกิดและอาศัยในพื้นที่นั้นตลอดชีวิตมีอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี ขณะที่ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นต่อวัน จะมีอัตราการมารักษาตัวที่โรงพยาบาลของผู้ป่วย ทั้งการรักษาตัวในห้องฉุกเฉิน และนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 3% ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีภาวะเฉียบพลันของโรคเส้นเลือดในสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดในสมองตีบตัน หัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถุงลมโป่งพองกำเริบ หอบหืดกำเริบ เป็นต้น

ขณะที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอกก็มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ โดยส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ไซนัสอักเสบ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ทั้งนี้ จะเห็นว่า PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้อายุขัยสั้นลง โดยคนในภาคเหนือจะมีอายุขัยสั้นลง การเสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้การเจ็บป่วยขั้นรุนแรงสูงขึ้น

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวต่อว่า เคยศึกษาวิจัยสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กับค่า PM 2.5 ซึ่งพบว่าในช่วงปี 2016 – 2018 PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ชาวเชียงใหม่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 1.6% ภายใน 1 สัปดาห์ กล่าวคือ โรคที่เสียชีวิตมีความสัมพันธ์กับมลพิษทั้งสิ้น นอกจากนี้ จากที่เคยได้ลงพื้นที่ทำวิจัยในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าค่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวอำเภอเชียงดาวเสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 3.5% ขณะที่ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลอำเภอเชียงดาว เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15%

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่เกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตของประชากรในประเทศไทยจากผลกระทบของ PM 2.5 ในปี 2009 โดยสำรวจข้อมูลในจังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ รวมทั้งสิ้น 17- 18 จังหวัด ซึ่งรวมจังหวัดเชียงใหม่ด้วย พบว่ามีประชากรเสียชีวิตราว 38,000 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละราว 3,000 คน โดยผลการวิจัยในต่างประเทศพบว่า PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับการป่วยของ 4 โรค ที่ชาวโลกเสียชีวิตสูงสุดคือ ปอดอักเสบ มะเร็งปอด หลอดเลือดสมอง และหัวใจขาดเลือด ขณะที่ 5 อันดับของโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง ปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด และ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน โดยพบว่า 4 อันดับแรกของโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นโรคที่สัมพันธ์กับมลพิษโดยตรง

“ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นยังรุนแรงแบบนี้นี้ ที่น่ากังวลคือผลกระทบระยะยาวจะรุนแรงมากกว่านี้ 10 เท่า ประชาชนจะเสียชีวิตรายปีๆละ 10% ประชาชนจะเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8 -10% คนจะโง่ลง
เด็กจะเป็นออทิสติกมากขึ้น ผู้ใหญ่จะเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้น และจะเป็นโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้น”

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า ผู้บริหารประเทศมีความประนีประนอมมากเกินไปต่อการที่มีคนเผาป่า ไม่มีการเตรียมความพร้อม ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อยากให้ภาครัฐมองถึงผลกระทบของสุขภาพที่ประชาชนได้รับ ที่ผ่านมายังไม่มีทางออกให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งภัยคุกคามจากฝุ่นควันพิษที่เกิดในใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ภาครัฐต้องกำจัดได้แล้ว การแก้ปัญหาต้องกำจัดที่แหล่งต้นตอ (Source) โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และต้องยกให้เป็นนโยบายระดับประเทศที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน ซึ่งต้องทำเช่นเดียวกับประเทศจีน ที่มีกฎหมายเข้มงวดเกี่ยวกับการเผาป่า ประเทศไทยต้องทำแบบ China Model

Cr.prachachat

สำนักข่าววิหคนิวส์