“เพื่อไทย” ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลหยุดคุกคามผู้เห็นต่าง หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน ชี้รัฐฐาลต้องเห็นแก่ความมั่นคงของประเทศมากกว่าความมั่นคงของรัฐบาล แนะทางออกคืนอำนาจกลับสู่ประชาชน
7 ก.พ.61 ที่พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงกรณ์ให้รัฐบาลหยุดละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และคุกคามประชาชนที่เห็นต่าง
โดยแถลงกรณ์ มีเนื้อระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้ติดตามกระบวนการสร้างความปรองดอง รวมถึงความจริงใจ ในการนำประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และได้ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการตั้งข้อกล่าวหา โดยฝ่ายรัฐบาล และ คสช. ต่อพี่น้องประชาชนในนามกลุ่ม “We Walk” และนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมบริเวณสยามเซ็นเตอร์และใกล้เคียง เพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งในนามกลุ่ม “MBK 39” พรรคฯ จึงขอแถลง ดังต่อไปนี้
1.ข้อเรียกร้องของประชาชนล้วนมาจากการที่รัฐบาลและ คสช. ไม่สามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จตามที่ได้ประกาศไว้ พฤติกรรมและการไม่รักษาคำมั่นสัญญา ก่อให้เกิดวิกฤตความไว้วางใจและความขัดแย้ง
เหตุหนึ่งที่ คสช.อ้างในการยึดอำนาจคือ เพื่อให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี แต่เวลาผ่านไป 4 ปี ความปรองดองของคนในชาติก็ยังไม่เกิดขึ้น ความคาดหวังของประชาชนว่า คสช. คือผู้มาแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ คสช. กลับอยู่ในอำนาจนานเหมือนต้องการแสวงหาอำนาจ คำสัญญาที่บอกว่า ขอเวลาไม่นาน แต่ก็อยู่ในอำนาจเกือบ 4 ปี เกือบเท่ารัฐบาลปกติ และมีแนวโน้มสูงว่าจะขยายต่อไปเรื่อยๆ
ยิ่งกว่านั้นมีการวางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจ เช่น การให้มีการแต่งตั้ง ส.ว. ซึ่งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก การไม่เคารพและยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ผู้นำเปลี่ยนคำพูดในหลายเรื่องหลายครั้ง โดยตั้งแต่ยึดอำนาจนายกรัฐมนตรีก็ปฏิเสธตลอดมาว่า ตนเองไม่ใช่นักการเมือง ในขณะที่นักการเมืองถูกทำลายความน่าเชื่อถืออย่างเป็นระบบ
แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนคำพูดยอมรับว่า ตนเป็นนักการเมือง คำสัญญาในการเลือกตั้งทั้งต่อคนไทยและต่างชาติ แต่ไม่ทำตามสัญญา แม้จะทำเป็นแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำมิตรประเทศว่า จะมีการเลือกตั้งในปี 2561 แต่ที่สุดก็ไม่เกิดตามที่พูด และจำต้องเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากการขยายเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน
แม้ขณะนี้ประชาชนก็ยังไม่มั่นใจว่า จะมีการเลือกตั้งในปี 2562 หรือไม่จากกรณีข้างต้น ย่อมทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในความเป็นไปของประเทศ และในตัวผู้นำ เกิดความไม่แน่นอนว่า เมื่อใดประชาชนจะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งกำหนดอนาคตของประเทศ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมที่รุมเร้าตั้งแต่การยึดอำนาจ จึงทำให้ประชาชน เริ่มอึดอัดและออกมาเรียกร้องตามสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และ คสช. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชน เนื่องจากรัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากข้อเรียกร้องของประชาชนและนักศึกษาทั้งสองกลุ่มข้างต้น เป็นการสร้างการตระหนักรู้และหาทางแก้ปัญหาสำคัญของชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งขอให้รัฐบาลได้จัดการกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่นอย่างตรงไปตรงมา และรักษาคำสัญญาเรื่องการเลือกตั้งที่ผู้นำและรัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชน
พรรคฯขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ร่วมเดินกับกลุ่ม“We Walk” และนักศึกษา ประชาชนที่ชุมนุมในนามกลุ่ม “MBK 39” เนื่องจากสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกทางการเมืองและชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธนั้น ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 34 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พรรคฯ ไม่เห็นว่า การชุมนุมที่ผ่านมานั้น มีการใช้ความรุนแรงหรืออาวุธ หรือได้กระทำไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลหรือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น
ดังนั้นการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมบางรายในความผิดตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินข้อเท็จจริง และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง การดำเนินการเช่นนี้ย่อมกระทบต่อความปรองดองและสมานฉันท์ในสังคมอย่างแน่นอน
3. รัฐบาลและ คสช. ต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ และเร่งหาทางออกให้กับประเทศ พรรคฯ เรียกร้องให้รัฐบาลและคสช. ยึดมั่นในประโยชน์ของประเทศ และหาทางออกให้กับประเทศ โดยดำเนินการดังต่อไปนี้
3.1คุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สมกับที่อ้างว่า เป็นวาระแห่งชาติ โดยการยกเลิกประกาศและคำสั่งที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหาในคดีทางการเมืองที่ผ่านมา
3.2 ยกเลิกข้อห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง
3.3 สร้างความชัดเจนให้โรดแมปทางการเมืองโดยการประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักลงทุน และนำประเทศไปสู่สภาวะปกติสุข
3.4 ยุติการใช้ภาษีประชาชน เจ้าหน้าที่และกลไกของรัฐเพื่อสนับสนุนการอยู่ในอำนาจ และการสร้างความได้เปรียบทางการเมือง
3.5 สร้างความปรองดองของคนในชาติให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
3.6 ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา
3.7 ต้องไม่สร้างวาทกรรมว่าถ้ายังขัดแย้ง จะยังไม่มีการเลือกตั้ง และต้องมิให้มีการใช้วาทกรรมความขัดแย้งหรือเหมารวมเอาว่าความเห็นที่ ตกต่างคือความขัดแย้ง เพื่อช่วยให้อยู่ในอำนาจไปเรื่อยๆ เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างเป็นธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีกลไกระงับความขัดแย้งโดยสันติวิธีอยู่แล้ว
จากข้อเท็จจริงและพฤติกรรมข้างต้น พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลต้องเห็นแก่ความมั่นคงของประเทศมากกว่าความมั่นคงของรัฐบาล หยุดวิกฤตความน่าเชื่อถือของผู้นำ ยุติความไม่แน่นอนทางการเมือง ด้วยการสร้างความชัดเจนให้คนไทยสามารถมองเห็นอนาคตที่ชัดเจนของตน ซึ่งพรรคฯ เห็นว่า ทางออกของประเทศที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ การคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว
Cr.naewna
สำนักข่าววิหคนิวส์