พระพม่าวางบาตรร่วมชูธงประท้วงวันที่ 3 ผู้ชุมนุมเรียกร้อง จนท.รัฐหยุดงานทำอารยะขัดขืน
เผยแพร่: 8 ก.พ. 2564 13:17 ปรับปรุง: 8 ก.พ. 2564 13:17 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
◽ รอยเตอร์ – ตำรวจยิงปืนฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองหลวงของพม่าวันนี้ (8) ในขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคนทั่วประเทศเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเป็นวันที่ 3 เพื่อต่อต้านการถอดถอนนางอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของกองทัพ เมื่อสัปดาห์ก่อน
การเรียกร้องให้เข้าร่วมการประท้วงและสนับสนุนการรณรงค์การอารยะขัดขืนได้ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่เรียกเสียงประณามจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง
“พวกเราเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำลังนำการรณรงค์นี้เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน เราตั้งเป้าที่จะล้มระบอบทหารนี้ และเราต้องสู้เพื่อโชคชะตาของเรา” เอ มิซาน พยาบาลโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง กล่าวในที่ชุมนุมประท้วงในนครย่างกุ้ง
การประท้วงที่เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ “การปฏิวัติผ้าเหลือง” ภายใต้การนำของพระสงฆ์ในปี 2550 ที่ช่วยนำประเทศไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตย
ตำรวจในกรุงเนปีดอได้ยิงปืนฉีดน้ำเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหลายพันคนที่รวมตัวกันในวันนี้
ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจเผชิญหน้ากันในการชุมนุมประท้วงที่กรุงเนปีดอ.
ตำรวจยิงปืนฉีดน้ำเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม.
ส่วนในนครย่างกุ้ง กลุ่มพระสงฆ์ร่วมเดินขบวนประท้วงไปพร้อมกับคนงานและนักศึกษา ธงฉัพพรรณรังสี หรือธงศาสนาพุทธโบกสะบัดไปพร้อมกับป้ายสีแดง ที่เป็นสีของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ที่ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. อย่างถล่มทลาย
ป้ายประท้วงในขบวนชุมนุมมีข้อความเขียนว่า “ปล่อยตัวผู้นำของเรา เคารพคะแนนเสียงของเรา ปฏิเสธรัฐประหาร” “เซฟประชาธิปไตย” และ “ไม่เอาเผด็จการ” เป็นต้น
ชาวพม่าหลายพันคนเดินขบวนประท้วงในเมืองทวาย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และที่เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือสุดของประเทศ โดยผู้ชุมนุมสวมชุดดำทั้งชุดตั้งแต่ศีรษะจดเท้า
จนถึงขณะนี้การชุมนุมยังคงดำเนินไปอย่างสงบ ต่างจากการปราบปรามนองเลือดในการประท้วงเมื่อปี 2531 และปี 2550 แต่มีผู้พบเห็นขบวนรถบรรทุกทหารผ่านเข้ามาในย่างกุ้งเมื่อช่วงสายของวันอาทิตย์ ซึ่งเพิ่มความหวาดกลัวว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อรัฐบาลทหารเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงได้ และสถานีโทรทัศน์ของรัฐก็ไม่ได้กล่าวถึงพวกเขา
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ยกเลิกการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในช่วงสุดสัปดาห์ ที่กระตุ้นให้ผู้คนไม่พอใจมากขึ้น เนื่องจากหวาดกลัวว่าประเทศจะกลับไปสู่การแยกตัวโดดเดี่ยวอย่างในอดีตอีกครั้ง ก่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในปี 2554
นอกจากการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน การรณรงค์การอารยะขัดขืนยังเริ่มต้นขึ้นเช่นกัน โดยเริ่มจากกลุ่มแพทย์ และมีครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าร่วม และเจ้าหน้าที่รัฐบางคน
“เราเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐจากทุกหน่วยงานหยุดงานตั้งแต่วันจันทร์” มิน โก นาย นักเคลื่อนไหว ที่เคยผ่านการชุมนุมประท้วงปี 2531 กล่าว.
https://mgronline.com/indochina/detail/9640000012471