การสร้างฝายที่อำเภอนาน้อย จ.น่าน
ปูน 7,500 บาท พาชาวบ้านพ้นจน !
‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ ยืนยาวแม้สิ้นลมหายใจ!
‘เมื่อชาวบ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น มีวิธีคิด ตัดสินใจเอง ฝายแกนดินซีเมนต์ตัวที่ 4 ผุดเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาแล้ง น้ำหน่วง น้ำหลาก บนพื้นที่ถิ่นกำเนิดของตัวเอง’
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า นายสุภัทรดิศ ราชธา ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการฯ รายงานให้ทราบว่า ขณะนี้อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน มี ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ ตัวที่ 4 แล้ว ที่หมู่บ้านแต ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน โดยได้รับสนับสนุนปูนซีเมนต์จาก “ชมรม คนรักษ์ ดิน น้ำ ป่า น่าน” จำนวน 50 กระสอบ
‘ฝายมีความลึก 1.5 เมตร กว้าง 4.5 เมตร สันฝาย .50 เมตร ก่อสร้าง 4 วันเสร็จ ใช้แรงงานคนงานขุดดิน 2 คน และแรงงานสบทบจากทุกภาคส่วนในตำบลเชียงของในการก่อสร้างฝาย รวมเวลาทั้งหมด 4 วัน ใช้ปูน 50 กระสอบ คิดเป็นเงิน 7500 บาท
‘ฝายตัวนี้ทำให้ชาวบ้าน 261 คน 14 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรประมาณ 500 ไร่ ได้ประโยชน์มหาศาลทั้งคุณภาพชีวิต (มีน้ำอุปโภค บริโภค) และใช้ในการเกษตรได้ตลอดปี สร้างรายได้เพิ่มขึ้น’
นายสังศิต เปิดเผยว่า การตื่นตัวและสามารถพึ่งตนเองได้ในด้านการจัดแหล่งน้ำขนาดเล็ก สืบเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 ได้มอบหมายให้นายสุภัทรดิศ ราชธา และนายณัฐดนัย กุลพัฒน์พงค์ ทีมวิศวกร เป็นตัวแทนของประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ลงพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อทำงานร่วมกับชมรมคนรักษ์ ดิน น้ำ ป่าน่าน ในการส่งเสริมการทำฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์
ให้ความรู้ เสนอแนะ นวัตกรรมการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ณ หอประชุมประจำหมู่บ้านบ้านแต หมู่ 2 ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน
‘รวมทั้งนายกังวาล ใหม่จันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงของอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ได้เรียนรู้การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ และ ประโยชน์ ซึ่งบรรยายโดย นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 นายกังวาน พร้อมเจ้าหน้าที่ และพระอาจารย์ใบฎีกา นนทวัชจรณธัมโม ได้ทำการสำรวจพื้นที่ และตัดสินเริ่มก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ทันที จนปัจจุบันสร้างแล้ว 4 ตัว’ นายสังศิต กล่าวในที่สุด
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
22 มิถุนายน 2565