พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมถึงกรณีที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการรื้อไถสวนส้มเอกชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 36/2559
ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการดำเนินการ ว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ ส.ป.ก.ประมาณ 40 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยมีประมาณ 4 ล้านไร่ ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงได้มีการออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อเป็นช่องทางในการยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ขนาดใหญ่ที่ครอบครองโดยมิชอบคืน ซึ่งก็ได้มีการกำหนดขั้นตอนชัดเจน
แนวหน้า – สำหรับกรณีสวนส้มในพื้นที่ ส.ป.ก.เชียงใหม่ นั้น สำนักงาน ส.ป.ก.ได้ปิดประกาศให้ผู้ที่ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวนำหลักฐานการครอบครองมาแสดงภายใน 15 วัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ส.ค.59 และก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ครอบครองเป็นอย่างดี จากนั้นจึงได้พิจารณาและเห็นว่ามีที่ดินที่แสดงหลักฐานที่มิใช่เอกสารการครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้แสดงเอกสารมิใช่เกษตรกรตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.จึงสรุปว่าต้องมีการยึดคืนพื้นที่รวมจำนวน 5,968 ไร่ และได้ปิดประกาศให้ผู้ครอบครองทราบ เพื่อดำเนินการรื้อถอนหรือย้ายออกภายใน 30 วันแล้ว
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องทำการรื้อไถพื้นที่บางส่วนนั้น ก็เนื่องจากผู้ครอบครองไม่ปฏิบัติตามประกาศ เจ้าหน้าที่จึงต้องดำเนินการรื้อถอนในส่วนของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุปสรรคในการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร โดยจะมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ครอบครองในถายหลัง ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีอุปสรรคขัดขวางต่อการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร ก็ยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก.เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรที่แท้จริงต่อไป ซึ่งก็ได้มีการเจรจาระหว่างสวนส้ม และ ส.ป.ก.มาเป็นระยะๆ ถือเป็นเรื่องดีผลของการเจรจานั้น ปรากฎว่าสวนส้มยินดีที่จะยกสวนส้มพร้อมอาคาร ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ ส.ป.ก.เพื่อนำไปจัดสรรให้เกษตรกรได้ดำเนินกิจการสวนส้ม
“เหตุที่ต้องทำเป็นเกษตรพันธะสัญญากับผู้ประกอบการรายเดิม ก็เนื่องจากต้นส้มที่ปลูกในพื้นที่ ส.ป.ก.ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ มีอายุราว 20 ปี ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ และต้องมีเทคนิคการดูแลเฉพาะ ซึ่งเกษตรทั่วไปไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ครอบครองเดิม อีกทั้งเกษตรกรและสหกรณ์ฯ ที่เข้ามาใหม่ไม่มีเงินทุนมากพอ เนื่องจากตลาดเดิมของสวนส้มดังกล่าวเป็นตลาดระดับบน ยังต้องใช้เครือข่ายเดิมในการเชื่อมโยงผลผลิตของสหกรณ์กับตลาด อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อกำหนดให้ทางสวนส้มเจรจาตกลงกับสหกรณ์การเกษตรจนเป็นที่พึงพอใจของทั้งสองฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันด้วย” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการรื้อถอนแปลงสวนส้มบางส่วน ก็เนื่องจากทาง ส.ป.ก.จำเป็นต้องกันพื้นที่เพื่อพัฒนาในเรื่องที่พักของเกษตรกร และสาธารณูโภคต่างๆ ทั้งที่พักอาศัย พื้นที่ทำการเกษตรส่วนตัว พื้นที่ทำการเกษตรแปลงรวม เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพการเกษตร รวมถึงพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ที่ตั้งสหกรณ์ ถนน สระน้ำ เป็นต้น ตลอดจนพื้นที่ป่าชุมชนที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมา เพราะต้องยอมรับว่า เกษตรกรที่จะได้รับการจัดสรรที่ดินนั้นมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ การสร้างรายได้ประจำวันเพื่อดำรงชีพ เพื่อไม่ต้องพึ่งพารายได้จากสวนส้ม ที่เก็บผลผลิตได้ปีละครั้งทางเดียว หาก ส.ป.ก.ไม่พัฒนาพื้นที่ไว้ก่อน ในอนาคตอันใกล้เกษตรกรก็จะประสบปัญหาในการอยู่อาศัยหรือทำการเกษตร ตลอดจนแก้ปัญหาด้วยการขายที่ดิน จนกลายเกิดการครอบครองที่ดินโดยมิชอบ เป็นปัญหาที่ไม่รู้จบอีก
“กระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันว่า ได้คิดวางแผนทำอย่างรอบคอบที่สุดแล้วเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย จึงอยากขอความร่วมมือสร้างความเข้าใจ และเชื่อมั่นในการดำเนินการของรัฐบาลเดินหน้าต่อ” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
สำนักข่าววิหคนิวส์