26 ก.พ.2565 – นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้
วิกฤต ยูเครน-รัสเซีย จะทำให้ค่าครองชีพในไทยสูงขึ้นอีก รัฐบาลต้องมองให้ออกและเตรียมพร้อมไปข้างหน้า
เป็นไปตามที่ผมได้อภิปรายซักถามนายกรัฐมนตรีในสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่ออาทิตย์ที่แล้วถึงท่าทีของไทยและมาตรการรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากการปะทุระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงมากขึ้น
เกี่ยวกับสถานการ์ดังกล่าว ก่อนอื่นผมต้องขอสะท้อนคำพูดของประธานาธิบดียูเครน Volodymyr Zelensky ว่า
“สงครามเป็นการยกเลิกหลักประกันความมั่นคงของทุกฝ่าย ประชาชนจะเป็นผู้ที่เจ็บปวดมากที่สุด และประชาชนก็คือคนที่ต้องการสงครามน้อยที่สุด”
เมื่อมองสถานการณ์กลับมาที่ประเทศไทย ถึงแม้วิกฤติ รัสเซีย-ยูเครน จะห่างออกไปมากกว่า 7 พันกิโลเมตร แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับปากท้องของพี่น้องประชาชนในชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน ทั้งราคาค่าน้ำมันที่จะกระทบทุกภาคส่วน จากเดิมที่ Morgan Stanley วิเคราะห์เอาไว้ว่าราคา Brent จะแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 3 ของปีนี้ ในตอนนี้ราคาเกิน 100 ไปแล้ว
สำหรับภาคปศุสัตว์ซึ่งต้องนำเข้าข้าวสาลีและกากถั่วเหลือง ราคาข้าวสาลีขึ้นไปแล้ว 5% ในสองวันที่ผ่านมา ซึ่งจากข้าวสาลีที่เราต้องนำเข้าปีละ 3 ล้านตัน เรานำเข้าจากรัสเซียและยูเครนรวมกัน 8 แสนตันหรือ 27% ราคากากถั่วเหลืองสองวันที่ผ่านมาขึ้นไป 4% ถึงแม้เราจะไม่ได้นำเข้ากากถั่วเหลืองจากรัสเซียและยูเครน แต่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จะได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้นในตลาดโลก
สำหรับเกษตรกรเพาะปลูกที่ต้องเจอราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาปุ๋ยไนโตรเจนที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติจะยิ่งแพงขึ้นไปอีกจากที่เมื่อวานนี้ราคาซื้อขายล่วงหน้าก๊าซธรรมชาติ Dutch TTF เพิ่มขึ้นถึง 60% ในวันเดียว
สำหรับการตอบโต้จาก สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น เป็นการคว่ำบาตรทางการเงินต่อธนาคารและรัฐวิสาหกิจของรัสเซียและการคว่ำบาตรการส่งออกและนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และชิพคอมพิวเตอร์ ถึงแม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรในรอบนี้จะไม่ได้กระทบกับธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่มีมูลค่าส่งออกไปรัสเซียที่มีมูลค่า 4 พันล้านบาทมากนัก เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรในรอบนี้ยังไม่ใช่ Comprehensive Sanction ที่ครอบคลุมมาถึงประเทศคู่ค้า
แต่หากสถานการณ์บานปลายออกไปและมีมาตรการคว่ำบาตรที่ครอบคลุมมากขึ้นออกมาก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและรัสเซียที่มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ เป็นการส่งออกจากไทยประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น ยานยนต์ ยางพารา และเครื่องใช้ไฟฟ้า กับนำเข้า 6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบและปุ๋ยเคมี คิดเป็น 6% ของมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยและเป็น 11% ของมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย ที่จะกระทบกับต้นทุนของเกษตรกรและค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง
ในช่วงปีที่ผ่านมา วิกฤติค่าครองชีพ ราคาปุ๋ย ราคาน้ำมัน ราคาอาหารสด ก็ท้าทายศักยภาพของรัฐบาลไทยมาอย่างสุดความสามารถแล้ว และวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นจะยิ่งผลักให้ค่าครองชีพสูงขึ้นไปอีกอย่างมากและยืดเยื้อยาวนาน
ผมเข้าใจดีว่ารัฐบาลมีทรัพยากรที่จำกัด เพราะฉะนั้นการจะนำทรัพยากรที่จำกัดมาใช้รับมือกับวิกฤติที่รุนแรงมากขึ้น ต้องเริ่มตั้งแต่ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดสรรงบประมาณ ตัดโครงการที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นออกไปทั้งหมดเพื่อปลดปล่อยทรัพยากรที่กระเบียดกระเสียนอยู่แล้วมาใช้รับมือวิกฤติค่าครองชีพของประชาชนให้ได้มากที่สุด และเร่งแสวงหาข้อตกลงความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทานเพิ่มเติมกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤติโควิดและสงครามเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ดังที่สิงคโปร์รีบทำกับประเทศคู่ค้า 6 ประเทศในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด ในขณะที่ไทยเพิ่งตกลงกับอเมริกาไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้.