สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานแล้ว เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายหลายฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำ และ สนช. เร่งพิจารณาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระ ท่ามกลางคำถามของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมว่ากฎหมายนี้จะยิ่งทำให้ปัญหามลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนรุนแรงขึ้นหรือไม่
เนื้อหาสำคัญของกฎหมายนี้คือ การให้เอกชนไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4) จากเดิมที่ต้องต่ออายุใหม่ทุก 5 ปี เป็นผลให้ 60,000 โรงงานทั่วประเทศได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ ซึ่ง นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยกล่าวไว้ว่า การแก้กฎหมายจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
กฎหมายนี้ยังเปลี่ยนคำนิยามคำว่า “โรงงาน” ใหม่ ส่งผลให้โรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า ไม่อยู่ในกำกับของกฎหมายโรงงานอีกต่อไป
“การลดขั้นตอนต่าง ๆ เชื่อว่าจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เรื่องมลพิษในภาพรวมมีผลกระทบโดยตรง เช่น การควบคุมมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นแน่นอน เป็นผลโดยตรงด้วยซ้ำไป” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ. มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวกับบีบีซีไทย ถึงผลกระทบของร่างกฎหมาย ก่อนที่ พ.ร.บ. จะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. เมื่อวันศุกร์
มูลนิธิบูรณะนิเวศเป็นหนึ่งในกว่า 50 องค์กรภาคประชาสังคมที่เรียกร้อง สนช. ให้ระงับการพิจารณาร่างกฎหมายนี้เป็นการเร่งด่วน หลัง สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. โรงงาน ไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 เนื่องจากกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
โรงงานตั้งได้ง่ายขึ้น
ผอ. มูลนิธิบูรณะนิเวศ อธิบายว่า เธอเชื่อว่ากฎหมายใหม่นี้จะเพิ่มจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ร่าง พ.ร.บ. โรงงาน ฉบับนี้ กำหนดนิยามของคำว่า “ตั้งโรงงาน” ไว้ว่า เพียงแค่นำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาตั้งในอาคาร สถานที่ก็ถือว่าเป็นการตั้งโรงงานขึ้นแล้ว โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน เนื่องจากว่าขั้นตอนที่ต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ถูกตัดออกไป
ส่วนคำนิยามใหม่ของ “โรงงาน” ร่างกฎหมายนี้เขียนว่า หมายถึง อาคารสถานที่ที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากกฎหมายเดิมที่กำหนดว่า สถานที่เครื่องจักร 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คนขึ้นไป
เพ็ญโฉม ชี้ให้เห็นถึงความกังวลต่อเรื่องนี้ว่า กฎหมายใหม่กำหนดให้โรงงานที่ขนาดเล็กกว่า 50 แรงม้า ต้องไปขออนุญาตประกอบกิจการ โดยใช้กฎหมายท้องถิ่นและสาธารณสุข ซึ่งโดยปกติของกฎหมายเดิม การตั้งโรงงานต้องพิจารณาความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายผังเมือง แต่ทว่า หากใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสาธารณสุขมาบังคับใช้จะทำให้ขาดขั้นตอนที่อิงตามกฎหมายผังเมือง ว่าตรงไหนตั้งโรงงานได้หรือไม่ได้
ผอ. มูลนิธิบูรณะนิเวศ อธิบายให้เข้าใจว่า โรงงานขนาดเล็กกว่า 50 แรงม้าส่วนใหญ่ที่ประกอบกิจการเป็นประเภทโรงงานหล่อหลอมโลหะ รีไซเคิล คัดแยกขยะ ฝังกลบขยะ ซึ่งเหล่านี้เป็นกลุ่มโรงงานที่อันตรายต่อชุมชนหากไม่มีมาตรฐานการดำเนินกิจการ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรปราการ และเขตลาดกระบังของกรุงเทพฯ
“โรงงานพวกนี้สร้างมลพิษอากาศ ได้ตั้งแต่ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ฝุ่นขนาดใหญ่ กลิ่นเหม็น น้ำเสีย พวกโรงงานหล่อหลอม รีไซเคิลบางส่วน สารอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้ของกิจการเหล่านี้ก็เป็นสารก่อมะเร็งเยอะ”
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นคำนิยาม “ตั้งโรงงาน” ที่ประชุม สนช. มีการอภิปรายเรื่องนี้ โดยมีข้อสังเกตว่าอาจมีโรงงานบางประเภทที่เครื่องจักร และคนงานที่ไม่เข้าข่าย แต่อาจมีความจำเป็นที่ต้องควบคุมกำกับดูแล เพื่อไม่ให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนโดยรอบ โดยแนะให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดกลุ่มประเภทโรงงานดังกล่าวแล้วนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย
ป้องกันการเก็บ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา”
นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแนวคิดของการยกเลิกอายุใบอนุญาต รง. 4 ว่า จะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศสามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง โดยไม่ติดขัด
เขากล่าวด้วยว่า เป็นการลดระยะเวลาการขอใบอนุญาต และลดปัญหาการแสวงหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐต่อเอกชนที่เรียกเก็บค่าน้ำร้อนน้ำชา นอกจากนี้ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย
ส่วนการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย จะเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการเป็นฝ่ายรับรองตนเอง ซึ่งใช้ระบบผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Third Party) ไปตรวจสอบอีกครั้ง
การเสนอแก้กฎหมายฉบับนี้ ได้รับการสนุบสนุนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ได้ส่งหนังสือชื่นชม รมว. อุตสาหกรรม เพราะเห็นว่าจะเป็นการปิดช่องการเรียกรับสินบน ลดขั้นตอนปรับปรุงการบริการภาครัฐ และเป็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอ
ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ตั้งแต่ปี 2559 ก่อนที่ สนช. จะมีมติรับหลักการรับหลักการร่าง พ.ร.บ. โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา ภายหลังเรื่องนี้ ถูกบรรจุเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับผู้ประกอบการเสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ก่อน สนช. รับหลักการร่างกฎหมายสองวัน
ทว่าข้อกังวลของภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า การแก้ไขร่างกฎหมายโรงงานในทิศทางนี้ คือ การไม่สนใจเรื่องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเห็นว่าเป็นวิธีการแก้ไขความไม่โปร่งใสของระบบราชการที่ผิดวิธีการ
“ใบอนุญาตจะมีอายุตลอดชีพ… การยกเลิกระบบต่ออายุใบอนุญาตนี้ ยิ่งจะทำให้เป็นการเปิดช่องให้การกำกับดูแลจากรัฐอ่อนแอลง หรือแทบไม่มีเลย” เพ็ญโฉม กล่าวกับบีบีซีไทย
ใช้ผู้ตรวจสอบเอกชน ตรวจโรงงานทำได้จริง ?
ผอ. มูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า เธอไม่ปฏิเสธการโอนอำนาจหน้าที่และการจัดทำรายงานการตรวจสอบให้เอกชน แต่การโอนอำนาจหน้าที่ไปทั้งหมดไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา
“ต้องไปดูแลเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ติดสินบน รับเงินใต้โต๊ะ มีกลไกที่ทำให้การออกใบอนุญาตโปร่งใสมากขึ้น ให้ภาคประชาชนเข้าไปร่วมทางใดทางหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็เปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้สาธารณะได้รับทราบ” เพ็ญโฉม กล่าวกับบีบีซีไทย
นอกจากนี้ ในส่วนของบทลงโทษผู้ตรวจสอบโรงงานก็เข้มงวดน้อยเกินไป ซึ่งตามกฎหมายนี้กำหนดให้เพิกถอนใบอนุญาต 2 ปี แต่ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำรายงานตรวจสอบโรงงานที่เป็นเท็จต่อสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นแล้ว
“หากว่าทำรายงานเท็จ ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็อาจจะรุนแรงกว่า ถ้าให้อำนาจก็ต้องมีมาตรการกำกับที่ดีด้วย”
Cr.บีบีซีไทย
สำนักข่าววิหคนิวส์