27 มิถุนายน 2565 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงนามคำสั่ง เรื่อง การผ่อนคลายมาตราการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวังวานนี้(26 มิ.ย.) โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 ต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ถุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องนั้น
ปัจจุบันได้คลี่คลายและมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น จากการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลงเป็นลำดับ จนสามารถผ่อนปรนบรรดามาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ ให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศ จากเดิมที่เคยกำหนดเป็นมาตรการสกัดกั้นเชื้อโรคอย่างเร่งด่วน โดยปรับให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลเพื่อรับผู้เดินทางจากทั่วโลก
จึงมีคำสั่งดังนี้
ข้อ 1. ยกเลิกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ดังนี้
- คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 2879/2565 เรื่อง ผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
- คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3658/2565 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติม คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 2879/2565 ผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
- คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 2945/2565 เรื่อง แนวปฏิบัติของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
- คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่3793/2565 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
- คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 6137/2565 เรื่อง มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (Alternative Quarantine : AQ) และบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผ่านเรือยอร์ซ เรือซุปเปอร์ยอร์ซ เข้ารับการกักกันตัวในเรือยอร์ซหรือเรือซุปเปอร์ยอร์ช (AIternative Yacht Quarantine : AYQ)
ข้อ 2. ผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ โดยขอให้ประชาชนพิจารณาประโยชน์ตามข้อมูลที่ฝ่ายสาธารณสุขรายงานว่า การสวมหน้ากากอย่างถูกวิธีเป็นประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อทั้งเชื้อโรคโควิดและโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจอื่นๆ
รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) จึงมีข้อแนะนำให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ
ข้อ 3.การผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบบูรณาการมีดังนี้
- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบ และระบบต่าง ๆ และคำแนะนำของทางราชการ
- สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะหรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายกฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบ และระบบต่าง ๆ และคำแนะนำของทางราชการ
ข้อ 4. มาตรการเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสม โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้กรณีการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนรวมกันมากกว่าสองพันคน ให้ผู้รับผิดชอบแจ้งการจัดกิจกรรมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นมาตรการเฝ้าระวังและกำกับติดตามมิให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อน (Cluster)
ข้อ 5. แนวปฏิบัติของผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
- ให้ยกเลิกการรับลงทะเบียน การเดินทางเข้าราชอาณาจักร สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทุกประเภท
- ให้ยกเลิกหลักเณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกัน ซึ่งทางราชการกำหนดตามของมาตรการป้องกันโรค สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกัน ซึ่งทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทุกประเภท ให้เป็นไปตามคำสั่ง ศบค. ที่ 13/2565 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565เป็นต้นไป แนบท้ายคำสั่งนี้
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือตามมาตรา 52ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง