ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #มท.1 เผยเน้นคุณสมบัติผู้ลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น และลดจำนวน “อบต.” ลงเหลือหมู่บ้านละ 1 คน

#มท.1 เผยเน้นคุณสมบัติผู้ลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น และลดจำนวน “อบต.” ลงเหลือหมู่บ้านละ 1 คน

20 December 2017
977   0

มหาดไทยจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับเสร็จแล้ว ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจความถูกต้อง มท.1 เผยเน้นคุณสมบัติผู้ลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น และลดจำนวน “อบต.” ลงเหลือหมู่บ้านละ 1 คน อดีตนายกสมาคม อบต.ชี้ไม่เป็นธรรม เพราะจำนวนประชากรของแต่ละหมู่บ้านแตกต่างกัน

ไทยโพสต์ – พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จำนวน 6 ฉบับ ว่ากระทรวงมหาดไทยได้ส่งความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้จะลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หากคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จ จะส่งให้ ครม.พิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

“ความเห็นของกระทรวงมหาดไทยเสนอไปมีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล จากเดิมกำหนดให้มาจากหมู่บ้านละ 2 คน ทางกระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้เหลือหมู่บ้านละ 1 คน เพื่อประหยัดงบประมาณได้ 4.7 พันล้าน แต่อยู่ที่การพิจารณาของ ครม.ว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร” รมว.มหาดไทยกล่าว

ขณะที่นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ ซึ่งหากได้รับแล้วก็จะนำมาพิจารณา

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอดีต สปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ในหลักการได้คงโครงสร้าง อบต.เอาไว้ก่อน ต่างจากก่อนหน้านั้นที่มีแนวคิดยก อบต.ขึ้นเป็นเทศบาล ซึ่งสมาชิกเขตเลือกตั้งแบบเทศบาลไม่ได้แบ่งเป็นรายหมู่บ้าน ตนเห็นว่าตัวแทนหมู่บ้านมีความจำเป็น การคงไว้เป็นเรื่องดี โดยการที่เดิมมีสมาชิก อบต.หมู่บ้านละ 2 คนเท่ากัน สภาอาจจะใหญ่ไป เหลือ 1 คนก็เป็นไปได้ แต่ถ้ามีประชากรประมาณ 500 คนขึ้นไปในหมู่บ้าน ให้มีสมาชิก อบต. 2 คน ทำให้มีการมองว่าหมู่บ้านเล็ก-ใหญ่ได้ตัวแทนไม่เท่ากัน

“ดังนั้นควรให้ประชากรมีสิทธิเลือกสมาชิก อบต. 1 คนเท่ากัน กาได้เบอร์เดียว หมู่บ้านเล็กก็ได้ 1 คน หมู่บ้านใหญ่ก็ได้ 2 คน อันดับหนึ่งและอันดับสอง จำนวนสมาชิกก็ลดลงได้ ลดงบประมาณได้ แต่ความเป็นตัวแทนประชาชนยังอยู่ ดีกว่ายกระดับเป็นเทศบาล ที่ทำให้ลักษณะสมาชิกสภาแบ่งเป็นเขต เขตละ 6 คนมีความหนาแน่น อาจจะไม่เป็นตัวแทนหมู่บ้าน ซึ่งถ้ามีปัญหาจะทำให้หมู่บ้านเล็กไม่มีตัวแทน การคง อบต.ที่กำหนดเป็นหมู่บ้านยังจำเป็น เช่น หมู่บ้านบนภูเขาหรือหมู่บ้านบนพื้นราบก็มีปัญหาแตกต่างกัน การมีตัวแทนจึงจำเป็น ทั้งนี้ ตัวเลขประชากรประมาณ 500 คน เป็นการประมาณเอา ต้องดูตัวเลขจำนวนประชากรจริงว่ามีค่าเฉลี่ยเท่าไหร่” นายวุฒิสารกล่าว

นายนพดล แก้วสุพัฒน์ อดีตนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงมหาดไทยเสนอให้ลดจำนวนสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือหมู่บ้านละ 1 คน เพื่อประหยัดงบประมาณว่า การลดสมาชิก อบต. เราเห็นด้วย แต่ไม่ทั้งหมด เพราะต้องดูจำนวนประชากรที่แต่ละหมู่บ้านมีไม่เท่ากันด้วย ถ้าหมู่บ้านไหนมีประชากรประมาณ 200-300 คน จะลดสมาชิก อบต.ลงเราไม่ว่า แต่หมู่บ้านที่มีประชากรประมาณ 5,000-10,000 คน ถูกลดสมาชิก อบต.ลง ก็กลายเป็นลดอำนาจประชาชน ถ้ากำหนดให้เหลือสมาชิก อบต.หมู่บ้านละ 1 คน แต่ไม่เกิน 3 คน น่าจะดีกว่า

“อย่าดูแค่ประหยัดอย่างเดียวแล้วลดตัวแทนประชาชนโดยไม่เหมาะสม จะลดเหลือน้อยลงไม่ว่า แต่หมู่บ้านที่ประชากรมากตัวแทนหายไปก็ไม่เท่ากัน ทางที่ดีต้องดูว่าหมู่บ้านทั้งหมดในประเทศไทยนั้น มีหมู่บ้านที่ประชากรน้อยสุดเท่าไหร่ มากสุดเท่าไหร่ แล้วทำไมต้องเหลือหมู่บ้านละ 1 คนเท่ากัน ต้องดูสัดส่วนประชากรแล้วเทียบออกมาดีกว่า เมื่อตัวแทนมีน้อยก็ไม่มีอำนาจ ดูแลไม่ทั่วถึง ตามหลักความจริงเป็นอย่างนี้ ต้องดูข้อมูลว่ามีคนในหมู่บ้านแค่ไหน แล้วกำหนดสัดส่วน ดีกว่าไปกำหนดจำนวนที่ไม่เป็นธรรม” นายนพดลกล่าว

ด้านนายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ อดีตเลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีผลในหมู่บ้านที่มีประชากรมาก ส่วนหมู่บ้านทั่วไปมีพื้นฐานค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 200-400 ครัวเรือน ซึ่งสมาชิก อบต. 1 คน สามารถดูแลได้ มีหน้าที่เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนแจ้งให้ฝ่ายบริหารทราบเพื่อแก้ไข

นายธีรศักดิ์ยกตัวอย่าง อบต.ที่ตนอยู่มี 1,100 ครัวเรือน ก็เป็นไปไม่ได้ที่สมาชิก อบต. 1 คนจะรับข้อมูลในเชิงพื้นที่ได้ ตนไม่แย้งและเห็นด้วยในหลักการที่ให้มีสมาชิก อบต.หมู่บ้านละ 1 คน แต่อยากให้มองสัดส่วนความสามารถในการเข้าไปบริการประชาชนด้วย โจทย์ที่กำหนด 1 คน ยังไม่พิจารณาโดยมีเกณฑ์ว่า 1 คนต่อจำนวนครัวเรือนเท่าไหร่ ตนเห็นว่าควรสูงสุดไม่เกิน 2 คน เพราะหมู่บ้านใหญ่ต้องดูแล 500-1,000 ครัวเรือนจะไม่ทัน เป็นข้อสังเกตว่าตัวแทนประชาชนจะรับไหวหรือไม่ เห็นด้วยในหลักการ แต่ไม่ใช่เท่ากันทุกหมู่บ้าน จำนวนสูงสุดไม่เกิน 2 คนกำลังดี และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการร้องว่าต้องการถึง 3 คน.

สำนักข่าววิหคนิวส์