เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #มหัศจรรย์ทำกินแก้จน ! สังศิต ค้นพบ ความสำเร็จฝายผีเสื้อที่เชียงม่วน

#มหัศจรรย์ทำกินแก้จน ! สังศิต ค้นพบ ความสำเร็จฝายผีเสื้อที่เชียงม่วน

21 July 2022
337   0

 

หาก ‘ผีเสื้อเชียงม่วน’ ขยับปีก
‘แม่ยม’ เพียงไหลริน !!

รายงานสั้น (19 ก.ค. 2565) การติดตามสถานการณ์ฝายแกนดินซีเมนต์ ช่วงเผชิญฝน น้ำหลากพื้นที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา โดยอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 พบมหัศจรรย์แห่งศักยภาพฝายแกนดินซีเมนต์ ดังนี้

✅ ฝายแกนดินซีเมนต์ที่สร้างเสร็จแล้ว 2 จุด ที่ห้วยเพ็ง (จำไฮ) และห้วยจะฮ้าง มีน้ำเต็มล้นสันฝายไหลผ่านตามร่องห้วย แม้ฝนทิ้งช่วง 2-3 วัน สภาพน้ำไม่แห้งตามเหมือนก่อนสร้างฝาย พืชเกษตรมีน้ำต่อเนื่อง พฤติกรรมการไหล ไม่เชี่ยวกราก ไม่สร้างความเสียหายต่อเกษตรกร เป็นข้อค้นพบมหัศจรรย์แห่งศักยภาพฝายแกนดินซีเมนต์คือ ก่อนสร้างฝายที่ห้วยเพ็ง(จำไฮ) หรือที่ชาวอนุกรรมาธิการเรียกขานกันว่าฝายผีเสื้อนั้น จะต้องตั้งงบประมาณซ่อมท่อระบายน้ำใต้ถนนข้ามฝายทุกปีๆละ 30,000 บาท เพราะจะถูกน้ำพัดกัดเซาะชำรุดเสียหายทุกฤดูฝน 🔥 เมื่อสร้าง ‘ผีเสื้อ’ ด้วยงบประมาณเพียง 15,000 บาท เพื่อหน่วง ชะลอการไหลของน้ำนุ่มนวลลง ก็สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ 30,000 บาทต่อปี ตราบเท่าที่อายุฝายผีเสื้อยืนยาวต่อไป

‘หนานเปรม’ สุเมธี คำลือ นายก เทศบาลตำบลเชียงม่วน บอกว่าเรามีถนนที่ต้องข้ามลำห้วยเช่นนี้ถึง 10 แห่ง หากดำเนินตามหลักการนี้ เราจะประหยัดเงินแผ่นดินปีละ 300,000 บาท !!

 

✅✅ ฝาย ‘ท่าน้ำวัดหลวง’ กั้นลำน้ำปี้กว้าง 26 เมตร สูง 1.50 เมตรครอบคลุมพื้นที่เกษตร 80 ไร่
ประชาชนได้รับประโยชน์ 4 หมู่บ้าน 300 หลังคาเรือน ประชากร 2000 คน ศักยภาพสำคัญของฝายนี้ช่วย ‘หน่วงชะลอน้ำ’ ตั้งแต่ต้นน้ำ ก่อนไหลสู่ลำน้ำยม ลดระดับความเชี่ยวกรากการไหลของน้ำ!!?

ข้อค้นพบมหัศจรรย์แห่งศักยภาพฝายแกนดินซีเมนต์ที่วัดหลวงกั้นลำน้ำปี้ 🔥สามารถ หน่วง ชะลอ ความเชี่ยวกรากการไหลของน้ำปี้ ที่จะไหลลงสู่ ‘แม่ยม’ อีก 6 กิโลเมตร

หาก ‘ผีเสื้อเชียงม่วน’ ขยับปีก สร้างแกนดินซีเมนต์อีก 6 จุดตามลำน้ำปี้นอกจากพื้นที่เกษตร 12.8 ตารางกิโลเมตรจะได้ประโยชน์แล้ว
ลำน้ำยมก็ไม่สะเทือน !! ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่แพร่และสุโขทัยได้อีกด้วย

ผมพบว่า ในขณะนี้ยังมีการใช้ฝายถุงปุ๋ยใส่กระสอบทรายตามจังหวัดต่างๆอีกเป็นจำนวนมากมายในลำน้าต่างๆของภาคเหนือตอนบน เพื่อหวังกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในการทำการเกษตรในหน้าน้ำ บางพื้นที่ต้องใช้ฝายกระสอบทรายถึงสองครั้งในหน้าฝน เนื่องจากไม่สามารถทนทานกับกระแสน้ำเชี่ยวได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ายกย่องกับความพยายามที่จะกักเก็บน้ำด้วยตนเอง

แต่ฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ทางด้านเทคโนโลยีในเรื่องของการกักเก็บน้ำขนาดเล็กที่สามารถทดแทนฝายแบบเดิมได้ดีกว่า และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่ยาวมากขึ้น

ดังนั้นผมจึงใคร่ขอ ความกรุณาท่าน ทั้งหลายที่มีความรู้เรื่องฝายแกนดินซีเมนต์แล้ว ได้โปรดส่งต่อ ความรู้นี้ไปยังชุมชนต่างๆ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้ได้รับรู้ความจริงใหม่นี้ด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

20 กรกฎาคม 2565