27 พ.ย. 2560 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาประจำปีคณะเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 11 “แนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุน ปี 2561 : อนาคตประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ณ มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก จ.ปทุมธานี ว่า ในขณะที่มุมหนึ่งมีความคาดหวังกันว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะไม่นำประเทศไทยกลับไปสู่วงวันการเมืองแบบเดิมๆ แต่อีกมุมหนึ่งยังไม่เห็นมาตรการใดๆ ที่เป็นรูปธรรม และในความเป็นจริงก็เริ่มปรากฏความขัดแย้งบ้างแล้ว
แนวหน้า – นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้หากลองไปถามประชาชน จะพบความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมากอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นประชาชนระดับฐานรากทั้งเกษตรกรในชนบท รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในเมือง เสียงสะท้อนส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือเศรษฐกิจไม่ดี และไม่คาดหวังอะไรกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุดนี้ แต่จะรอให้มีการเลือกตั้งจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่อีกกลุ่มคือประชาชนที่หวาดกลัวหากจะกลับสู่การเลือกตั้ง อาทิ ปัญหาการทุจริต ความวุ่นวายทางการเมือง จึงตั้งคำถามว่าไม่ต้องรีบเลือกตั้งได้หรือไม่
“คนกลุ่มแรกตั้งความหวังกับการเลือกตั้ง คือคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่คนที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนเท่าไรนักก็ยังมีความหวาดวิตกว่าจะเกิดปัญหาความวุ่นวาย หรือปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นหากกลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แม้ตัวเลขในภาพรวมจะดีขึ้น ล่าสุดคือบอกว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) จะเกินร้อยละ 4 แต่ปัญหาใหญ่ก็คือร้อยละ 4 ที่ว่า ได้ประโยชน์กันจริงในกลุ่มคนน้อยมาก หมายความว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกเลยว่าเศรษฐกิจดีขึ้น และยังเป็นการตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวต่อไปว่า แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการต่างๆ มากมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และใช้งบประมาณไปไม่น้อย แต่เหตุที่ไม่ได้ผลเพราะกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ลดลง จากหลายสาเหตุ อาทิ 1.ในส่วนของภาคเกษตร ที่ได้รับผลกระทบทั้งภัยธรรมชาติ น้ำท่วมน้ำแล้ง แต่รัฐบาลก็ไม่มีวิธีอื่นใดที่จะช่วยเกษตรกรนอกจากขอความร่วมมือให้ปลูกพืชต่างๆ น้อยลง หรือหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน ทว่าเกษตรกรก็ไม่กล้าปรับเปลี่ยนเพราะไม่มีหลักประกันใดๆ จากภาครัฐว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นจริงหรือไม่ จะมีตลาดรองรับหรือเปล่า
ขณะเดียวกัน แม้ตนจะเห็นด้วยกับการยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าว แต่การไม่มีมาตรการอื่นๆ มาทดแทนเลย ก็ส่งผลต่อรายได้ของประชาชนภาคเกษตรอย่างมาก เช่น ชาวนาเคยมีรายได้จากข้าวเฉลี่ยตันละ 1 หมื่นบาทขึ้นไป ก็ต้องไปขายกันเองได้เพียงตันละ 5-7 พันบาท เช่นเดียวกับชาวสวนยางพารา ซึ่งช่วงท้ายๆ สมัยที่ตนเป็นนายกฯ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละเกือบร้อยบาท วันนี้เหลือ 30-40 บาท รายได้ที่หายไปเกือบครึ่งต่อครึ่งนี้ก็ทำให้กำลังซื้อของประชาชนในภาคเกษตรหายไปด้วย
2.การกระจายงบลงสู่ท้องถิ่น พบว่าเม็ดเงินก็ไปกระจุกตัวอยู่กับผู้นำชุมชนและผู้รับเหมา ประชาชนทั่วไปไม่ได้มีรายได้กระเตื้องดีขึ้น 3.นโยบายช็อปช่วยชาติ พบว่าคนที่ได้ประโยชน์จริงมีเพียงประชาชนกลุ่มที่มีกำลังซื้อ กับผู้ประกอบการที่มีกำลังขายเท่านั้น ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ค่อยมีกำลังซื้อก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะรายได้ก็ไม่ถึงขั้นนำไปขอหักลดหย่อนภาษีได้
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงคำพูดของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่บอกว่าปีหน้า (2561) จะไม่มีคนจน ทั้งที่ในความเป็นจริงปีนี้ (2560) ก็มีข้อมูลอยู่ว่าคนจนเพิ่มจำนวนขึ้น และเพิ่มทั้งๆ ที่ช่วงนี้ประเทศไทยไม่ได้มีวิกฤติเศรษฐกิจอะไรเลย ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น นโยบายนำเข้าข้าวสาลีไม่เก็บภาษี ทราบว่าต้องการช่วยกิจการอาหารสัตว์ แต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง แม้กระทั่งข้าว ตนนั้นเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมา 2 ปีแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ไม่มีความคืบหน้า
หรือจะเป็นนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่พบว่าสร้างความยากลำบากในการใช้งานให้กับประชาชน เช่น ต้องเสียค่าเดินทางไกลจากบ้านเพื่อไปซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐที่มีจำนวนน้อย ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าในตลาดสดหรือร้านค้าของชุมชนได้ กลายเป็นว่าเม็ดเงินไม่กระจายหมุนเวียน แต่ไปผูกขาดอยู่ที่ร้านค้าเพียงไม่กี่แห่ง และยังทราบด้วยว่าร้านเหล่านี้ขายสินค้าแพงกว่าที่อื่น เท่ากับยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงขึ้นอีก แม้รัฐบาลจะไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นก็ตาม
“ใน กทม. เอง วันนี้การจัดระเบียบที่บอกว่าจะขจัดทุกอย่างออกจากทางเท้า รวมถึงพ่อค้าแม่ขายหาบเร่แผงลอยที่ขายอาหาร อันนี้ก็ทำให้เกิดปัญหา 2 ต่อ ต่อแรกคือผู้ขายสูญเสียรายได้อยู่แล้ว ทั้งที่จริงๆ ถ้าจะจัดระเบียบมันก็มีวิธีการอื่นนอกจากที่จะให้เขาเลิกขาย กับต่อที่สองที่คนไม่ค่อยได้พูดกัน นี่คือแหล่งอาหารราคาถูกสำหรับคนทำงานในกรุงเทพจำนวนมหาศาลก็หายไปอีก” นายอภิสิทธิ์ ระบุ
อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ยังฝากถึงรัฐบาล คสช. ในช่วงปีเศษที่เหลือว่า หากปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานด้านเศรษฐกิจ ก็จะพอประคับประคองความรู้สึกประชาชนไปได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ทำตรงนี้ ขอให้ดูตัวอย่างจากต่างประเทศที่มีการเลือกตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ แล้วพบว่าอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรงมาก นำไปสู่การเลือกผู้นำที่มีลักษณะสุดโต่งบางอย่าง เช่น ประชานิยม หรือเล่นกับความกลัวของประชาชนเกี่ยวกับคนต่างด้าวเข้าเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการเมืองด้วย
สำนักข่าววิหคนิวส์