เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #มีปัญหาก็ปิดปท. ! นายกรับต้องอยู่กับโควิดให้ได้

#มีปัญหาก็ปิดปท. ! นายกรับต้องอยู่กับโควิดให้ได้

21 October 2021
333   0

  วันที่ 20 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังเป็นประธานการประชุมสภากลาโหมเกี่ยวกับแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวนับตังแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไปว่า การเปิดประเทศในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่านักท่องเที่ยวจากทุกประเทศจะเข้ามาได้ทั้งหมด แต่เบื้องต้นจะมีเฉพาะประเทศที่ได้หารือร่วมกันแล้วและตกลงที่จะยอมรับมาตรการด้านสาธารณสุขของไทย

เขาเชื่อว่าการเปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ “ถ้าเปิดแล้วเกิดปัญหาก็ต้องปิด”

นายกฯ ย้ำแนวคิดในการจัดการสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ของไทยในขณะนี้ว่าคือการ “อยู่กับโควิด-19 ให้ได้”

พล.อ. ประยุทธ์ยังได้ชี้แจงถึงการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ส่วนหน้า (ศบค.ส่วนหน้า) เพื่อควบคุมและบริหารจัดการการระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแต่งตั้งให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกฯ ว่า ศบค.ส่วนหน้าจะมีหน้าที่บูรณาการการทำงานเป็นหลัก และดูแลเพื่อการสกัดกั้นการระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่

ศบค.เคาะเงื่อนไขเดินทางเข้าไทย

วันเดียวกันนี้ ศบค. โดย พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการรองรับการเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

การเข้าราชอาณาจักรไทย

ทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ผู้เดินทางจากทุกประเทศ, ผู้เดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีนครบโดส : เมื่อเดินทางถึงไทยจะต้องเข้าสู่การกักกันโรคในสถานกักกันที่รัฐจัดให้
  2. ผู้เดินทางจากทุกประเทศที่มีปลายทางที่ 17 จังหวัดนำร่องเปิดการท่องเที่ยว: ต้องได้รับวัคซีนครบโดส และจะต้องเตรียมเอกสารและปฏิบัติตามเงื่อนไข
  • เดินทางมาจาประเทศที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด และเดินทางมาทางอากาศเท่านั้น
  • มีเอกสารรับรองการรับวัคซีนครบ 2 เข็ม
  • มีผลการตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชม.
  • เมื่อเดินทางมาถึงจะต้องตรวจหาเชื้อซ้ำโดยทันที เมื่อผลเป็นลบถึงจะเดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่นได้
  • ทำประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • มีใบจองที่พัก

แผนรองรับด้านสาธารณสุข

ในการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับการเปิดประเทศ และเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ศบค. ได้วางหลักเกณฑ์สำคัญไว้ 3 ข้อ ได้แก่

1. อัตราความครอบคลุมของวัคซีน ต้องเกิน 50% ภายในสิ้นเดือน ต.ค.

2. ศักยภาพในการรักษา โดยมีเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง

3. อัตราการติดเชื้อรายวันต่อแสนประชากร

นอกจากนี้ สธ. ยังพัฒนาระบบ “หมอพร้อม” ให้เป็น Digital Health Pass เพื่อรองรับการเปิดประเทศ อำนวยความสะดวกแก่สถานประกอบการในการตรวจสอบและประชาชนในการแสดงหลักฐานข้อมูล 3 ส่วน คือ 1. การรับวัคซีนโควิด-19 หากประชาชนได้รับวัคซีนครบ ระบบจะแสดงสถานะสีเขียวว่า “รับวัคซีนแล้ว” (Vaccinated) 2. ผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งแบบ RT-PCR และ ATK และ 3.ประวัติการวินิจฉัยโควิด-19

ประเทศไหนมาไทยไม่ต้องกักตัว

นักท่องเที่ยวที่เดินทางจาก “ประเทศเสี่ยงต่ำ” ตามที่ไทยกำหนด จะได้รับข้อยกเว้นให้ไม่ต้องกักตัว หากได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสแล้ว เบื้องต้นมีรายชื่อ 5 ประเทศที่นายกฯ ประกาศไว้ก่อนหน้านี้คือ อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และสหรัฐฯ

เที่ยวจังหวัดไหนได้บ้าง

รายชื่อ 17 จังหวัดที่ถูกกำหนดให้เป็น “พื้นที่สีฟ้า” เริ่มนำร่องให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปเที่ยวได้ ระหว่าง 1-30 พ.ย.

  • ภูเก็ต
  • สุราษฎร์ธานี
  • กรุงเทพฯ
  • สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ)
  • กระบี่
  • พังงา
  • ประจวบคีรีขันธ์ (ต.หนองแก อ.หัวหิน)
  • เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ)
  • ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.จอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา)
  • ระนอง (เกาะพยาม)
  • เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า)
  • เลย (อ.เชียงคาน)
  • บุรีรัมย์ (อ.เมือง)
  • หนองคาย (อ.เมือง อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.สังคม)
  • อุดรธานี (อ. เมือง อ.นายูง อ.หนองหาน อ.กุมภวาปี อ.บ้านดุง)
  • ระยอง (เกาะเสม็ด)
  • ตราด (เกาะช้าง)

สถานการณ์การติดเชื้อ

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศบค. รายงานวันที่ 20 ต.ค. ว่าภาพรวมผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดอีก 67 จังหวัดมีแนวโน้ม “ลดลงอย่างชัดเจน” สวนทางกับผู้ป่วยในจังหวัดชายแดนใต้ “เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ”

โดยในวันนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 8,918 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่ม 79 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมนับจากปี 2563 อยู่ที่ 1,811,852 ราย ในจำนวนนี้มีอยู่ 103,507 รายที่พักรักษาตัวใน รพ. เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,728 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 619 ราย

พญ.สุมนีระบุว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจลดลงถึงเกือบดครึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากที่สุดถึง 1,172 ราย

“แนวโน้มของผู้ป่วยที่ยังอยู่ในระบบ และมีอาการป่วยหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตมีจำนวนลดลง”

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก สูงสุดคือ กรุงเทพฯ (1,020 ราย) รองลงมา ได้แก่ ยะลา (704 ราย) ปัตตานี (520 ราย) สงขลา (484 ราย) และสมุทรปราการ (359 ราย)

ศบค. รายงานด้วยว่า 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.นครศรีธรรมราช เป็นกลุ่มจังหวัดพบผู้ติดเชื้อด้วยการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK จำนวนมาก นอกจากนี้ จ. เชียงใหม่และเชียงรายก็พบว่ามีผลตรวจจาก ATK เป็นบวกจำนวนมากเช่นกัน

สำหรับยอดการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ณ วันที่ 19 ต.ค. มีประชาชนไทยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม แล้ว 38,611,193 ราย คิดเป็น 53.6 % ของประชากร

มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มสอง 26,959,785 ราย คิดเป็น 37.4 % ของประชากร

มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มสาม 2,016,124 ราย คิดเป็น 2.8% ของประชากร

…….