2560 มีผลบังคับใช้แล้ว หลัง สนช.ลงมติ 3 วาระรวดเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. เผยมีทั้งสิ้น 9 มาตรา ความปลอดภัยให้รวมถึงการถวายพระเกียรติด้วย
ไทยโพสต์ – เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ถือเป็นวันแรกที่พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 126 ก หน้า 1-3 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ใน 3 วาระรวด ด้วยคะแนนเสียง 190 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง
ทั้งนี้ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 มีทั้งสิ้น 9 มาตรา ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้ระบุว่า โดยที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ กำหนดให้มีส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัยให้สอดคล้องกับการกำหนดหน้าที่ส่วนราชการในพระองค์และกำหนดหลักเกณฑ์ในการถวายความปลอดภัยให้สามารถดำเนินการถวายพระเกียรติในการปฏิบัติภารกิจได้ตามพระราชประสงค์ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้
สำหรับเนื้อหาของกฎหมายทั้ง 9 มาตรานั้น คือ มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่าพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ การถวายความปลอดภัย หมายความว่า การรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และให้หมายความรวมถึงการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ
ความปลอดภัย หมายความว่า การรักษาความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติต่อพระองค์หรือบุคคลที่ต้องมีการถวายความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยของพระราชฐาน ที่ประทับหรือที่พักการรักษาความปลอดภัยในขณะที่เสด็จไปหรือไปยังที่ใด รวมตลอดถึงการรักษาความปลอดภัยของยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนราชการในพระองค์ หมายความว่า ส่วนราชการในพระองค์ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
มาตรา 5 ให้ส่วนราชการในพระองค์มีหน้าที่วางแผนการถวายความปลอดภัย ตลอดจนการอำนวยการ ประสานงาน ควบคุม และปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัย โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ในกรณีที่มีการกำหนดแผนการถวายความปลอดภัยแล้ว และมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้แผนการถวายความปลอดภัยนั้นมีผลตามกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามด้วย
มาตรา 6 ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์กำหนด
มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการถวายความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพและมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกัน ให้ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์มีอำนาจกำหนดระเบียบหรือออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยเพื่อใช้บังคับกับส่วนราชการในพระองค์และหน่วยงานของรัฐ
มาตรา 8 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการออกระเบียบ ประกาศ หรือกำหนดแนวปฏิบัติเป็นอย่างอื่นตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 9 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้.