มุกดาหารเปิดพื้นที่ ‘เกษตรริมโขง’ 72 กิโลเมตร !! (ตอนที่ 1)
“ศูนย์เรียนรู้เกษตรริมโขง” ใช้พื้นที่จวนผู้ว่าฯ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นต้นแบบการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคได้อย่างแท้จริง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยต่อนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะ ซึ่งเข้าเยี่ยมชมพื้นที่แปลงเกษตรสาธิตภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ว่าต้องการใช้พื้นที่บริเวณบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเปิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรริมโขง” เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นต้นแบบเรื่องการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคได้อย่างแท้จริง เดิมในพื้นที่ดังกล่าวมีแปลงเกษตรผสมผสาน สระน้ำ แปลงนา และการเลี้ยงเป็ดไก่อยู่แล้ว
นายสังศิต เห็นว่า การตัดสินใจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแม่น้ำโขงเพื่อมาใช้ในการทำการเกษตรในพื้นที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว ถือเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลให้เกษตรกรของจังหวัดมุกดาหารที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงทั้ง 72 กิโลเมตร หันมาใช้โซล่าเซลล์ดึงน้ำโขงมาทำการเกษตรได้ตลอด 365 วันในหนึ่งปี ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรในจังหวัดมุกดาหารดีขึ้นจากการมีรายได้ที่มากขึ้นเพราะมีผลผลิตที่จะนำออกขายในตลาดเป็นจำนวนมากขึ้น
‘ถ้าแนวคิดดังกล่าวกระจายไปยังเกษตรกรไทยที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงเป็นระยะทางกว่า 1,520 กิโลเมตร มีการหันมาใช้โซล่าเซลล์ดึงน้ำในแม่น้ำโขงมาใช้เพื่อการเกษตรตลอด 365 วัน จะมีเกษตรกรไทยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น มีผลผลิตที่จะนำออกสู่ขายในตลาดเป็นจำนวนมากขึ้น ชีวิตของเกษตรกรเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะร่วมมือกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อดำเนินการให้ศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นในเร็ววันนี้’
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2566 ก่อนหน้านั้น นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ร่วมกับนายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พ.ต.ท.ดร.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการหารือเบื้องต้นก่อนการประขุมร่วมกันในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดินเชิงโครงสร้างฯ ได้นำเสนอนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์และการทำร่องเติมน้ำ ซึ่งเป็นการพรวนดินระดับลึกเพื่อเก็บน้ำไว้ใต้พื้นดิน รวมทั้งแนวทางในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ในการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ซึ่งจากการหารือได้ข้อสรุปประเด็นปัญหาที่สำคัญของจังหวัดมุกดาหาร ดังนี้
1. ปัญหาเร่งด่วนเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม และปัญหาเรื่องน้ำใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
2. ปัญหาเรื่องคนอยู่กับป่า ความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องแก้ไขโดยยึดมติของคณะรัฐมนตรีที่ต้องการให้รัฐสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่า แต่ประชาชนสามารถมีอาชีพและอาศัยอยู่กินกับป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
3. การส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานในรูปแบบเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาด เพื่อคุณภาพชีวิตทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมทั้งเปิดช่องทางเรื่องการตลาดในโมเดิร์นเทรดให้แก่ชาวบ้านและชุมชนได้จริงทันที
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
15 มกราคม 2566