สกู๊ปข่าว » #ม็อบพรึบแน่ ! สาทิตย์ ยัน หากประยุทธ์รอด 30 ก.ย.

#ม็อบพรึบแน่ ! สาทิตย์ ยัน หากประยุทธ์รอด 30 ก.ย.

25 September 2022
330   0

    25 ก.ย.2565-นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลังวันที่ 30 ก.ย.ที่ศาลรัฐธรรมนญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ประเมินไว้สองทาง กรณีแรก คือศาลยกคำร้องหรือพลเอกประยุทธ์รอดในคดีแปดปี ซึ่งเท่าที่ฟังดูช่วงหลัง เสียงในสภาฯ ประเมินว่ารอด แต่จะเป็นการรอดแบบมีเงื่อนไข เช่นเหลือเวลาการเป็นนายกฯอีกแค่สองปี แต่ที่แปลกใจคือไม่มีใครประเมินเรื่องเนื้อหากันเลย แต่ประเมินเรื่องกำลังภายในกันมากกว่า ที่ก็เป็นเรื่องแปลก ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์รอด โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ยาวไปจนถึงครบวาระ หรือใกล้ๆ ครบวาระแล้วยุบสภาฯมีสูงมาก มีการพูดกันว่า หากพลเอกประยุทธ์ได้กลับมา ภารกิจที่อยากทำคือการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกในช่วงเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยพอจบเอเปก ก็เข้าธันวาคม 2565 แล้วไปมกราคม 2566 ก็มีการประเมินกันว่าการยุบสภาน่าจะยุบในช่วงใกล้ๆ มีนาคม อาจจะเป็นการยุบช่วงปลายมกราคมหรือกุมภาพันธ์  2566 เหตุที่เชื่อว่าจะมีการยุบสภาเพราะจะทำให้การโยกย้ายพรรคการเมืองต้นสังกัดลงเลือกตั้งของส.ส. นักการเมืองทั้งหลาย ที่มีเค้าลางว่าเกิดเยอะแน่ จะทำได้ง่ายกว่าให้สภาฯอยู่จนครบวาระ เพราะเงื่อนไขต่างกัน คือหากยุบสภาฯ สังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 30 วันจนถึงวันเลือกตั้ง

“แต่ผมประเมินว่าหากออกมาทางนี้ ม็อบอาจจะกลับมาชุกชุมมาก เพราะกระแสต่อต้านบิ๊กตู่จะสอดรับกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นม็อบมีเบื้องหลังทั้งนั้น พูดกันตรงๆ แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็น่าจะประคับประคองกันไปได้ เพราะบารมีบิ๊กตู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลยังมีอยู่ แต่ที่ต้องเคลียร์ให้ดีก็คือความสัมพันธ์ของพี่น้องกันเอง (3 ป.) กับเรื่องภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในพลังประชารัฐเอง ก็ใช่ว่าจะกลมเกลียวกันนัก แต่การกลับมาของบิ๊กตู่ จะทำให้ทิศทางของพลังประชารัฐจำเป็นต้องชัดเจนมากขึ้น สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะทำงานได้ราบรื่นในแง่พรรคร่วม แต่การแข่งขันทางการเมืองก็คงจะเข้มข้น คือหมายถึงคะแนนบิ๊กตู่ตกอยู่แล้วกับสภาพโดยทั่วไปที่เป็นรัฐบาลมานาน โดยพรรคการเมืองทุกพรรค ก็หวังว่าตัวเองจะเป็นพรรคที่เติบโตขึ้นได้ ใหญ่ขึ้นได้ ก็จะมีการเจาะพื้นที่กันวุ่นวายไปหมด”

ส.ส.ตรัง พรรค ปชป. ประเมินอีกว่า ทางที่สองบิ๊กตู่ไม่รอด หากเป็นแบบนี้จะมีเงื่อนไขสำคัญคือว่า มันต้องเดินไปตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาต้องประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ ที่เลือกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองประกาศไว้ตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่เหลืออยู่ห้าคน คือ จากเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติศิริ ส่วนจากประชาธิปัตย์ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล แต่นายชัชชาติ แต่เขาประกาศสละสิทธิ์ไปแล้ว  ก็เหลือสี่คน คิดว่ารัฐสภา ก็ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะต้องหยิบสี่ชื่อนี้มาเรียงก่อน แล้วก็ลงมติ

“ผมก็มองว่ายากที่ในสี่คนนี้จะได้เสียงโหวตเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง เพราะต้องมีสว.มาร่วมโหวตด้วย โดยชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์กับชัยเกษม จากเพื่อไทย ตัดไปได้เลย เพราะไม่มีคะแนนนิยมจากสว.มากนัก เหลือแต่ อภิสิทธิ์กับอนุทิน ที่ผมไม่แน่ใจว่าถึงเวลานั้นทั้งสองคนนี้โดยส่วนตัวเขาจะยังยืนยันที่จะให้เป็นตัวเลือกอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากสุดท้าย เสียงโหวตไม่มีใครได้เกินกึ่งหนึ่ง รัฐสภา ก็ต้องมาใช้บทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นเพื่อนำไปสู่การเลือกนายกฯนอกบัญชี โดยต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การเลือกนายกฯคนนอก ที่ก็ประเมินกันว่า หากจะเสนอชื่อ ก็คงไม่พ้น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่การจะโหวตเห็นชอบได้ต้องใช้เสียงเกินครึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่ผมคิดว่าหากไปถึงจุดนั้น ถ้าบิ๊กตู่หลุดจากนายกฯ พลเอกประวิตร ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ต้องเรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร”

นายสาทิตย์ กล่าวว่า หากการเมืองไทยไปถึงจุดนั้น คงเกิดการต่อรองทางการเมืองกันพอสมควรในเชิงว่าเช่น หากจะให้สนับสนุนพลเอกประวิตร จะมีการปรับครม.เพื่อกำหนดสัดส่วนโควตารัฐมนตรีกันใหม่ในรัฐบาลหรือไม่ ที่เราคงตอบยาก แต่ผมมองว่าการเมืองคงชุลมุนจากภายใน ไม่ใช่จากข้างนอก แต่สำหรับประชาธิปัตย์ หากบิ๊กตู่ไม่รอด แล้วต้องเลือกนายกฯคนใหม่ ประชาธิปัตย์ที่เสนอชื่ออภิสิทธิ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ เราไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธอภิสิทธิ์ เราต้องสนับสนุนอภิสิทธิ์ เพราะชูบทบาทเขาตั้งแต่ชูให้เป็นแคนดิเดตนายกฯในบัญชีของพรรค แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าทันทีที่หาก พลเอกประยุทธ์ถ้าเกิดว่าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯไป ก็ต้องคุยกันในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ท่าทีพรรคปฏิเสธอภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ส่วนเพื่อนพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือสว.ไม่เอาก็เรื่องหนึ่ง แล้วถ้าไม่เอา จะเอาชื่อไหน ก็ต้องถกกัน ซึ่งการจะสนับสนุนใครให้เป็นนายกฯ เมื่อรับเงื่อนไขพรรคร่วมรัฐบาลมาแล้ว ต้องมาประชุมพรรค ส.ส.ของประชาธิปัตย์ในฐานะคนต้องโหวตนายกฯ ก็ต้องมีมติ

ถามย้ำว่า หากสุดท้ายต้องเลือกนายกฯคนนอก ประชาธิปัตย์จะเอาด้วยหรือไม่ นายสาทิตย์กล่าวตอบว่า อันนี้เรื่องใหญ่มาก ในพรรคคงต้องถกกันหนักมาก ต้องยกเหตุผลมาคุยกันว่าเหตุใดต้องเลือกนายกฯนอกบัญชี หรือหากไม่เลือก แล้วจะต้องมีการยุบสภาไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ที่หากเป็นแบบนั้นมันจะเป็นโอกาสใหม่ของประเทศมากกว่าที่จะไม่รู้ว่าทิศทางข้างหน้าเดินต่อไปโดยไม่รู้ว่าจะมีทิศทางอย่างไรหรือไม่ ในพรรคก็ต้องถกกัน ส่วนโอกาสที่อาจจะมีการยุบสภาฯเกิดขึ้น หากพลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯนั้น นายกฯรักษาการยุบสภาได้ แต่ต้องดูว่าเขาเลือกที่จะยุบเลยหรือรอจังหวะอันนี้ไม่มีใครเดาใจได้ เพราะในเมื่อไม่มีนายกฯ ตัวนายกฯรักษาการก็ยุบสภาได้ แต่อาจมีคนเสนอว่าหากพลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ ก็เสนอว่ายังไม่ต้องปรับครม. ยังไม่ต้องเลือกนายกฯคนใหม่ กระบวนการสรรหานายกฯ ก็ดำเนินไปแต่อย่าเพิ่งตัดสิน ให้นายกฯรักษาการคอยรับหน้าที่ตอนช่วงประชุมเอเปกเดือนพฤศจิกายนไปก่อน ก็อาจเป็นไปได้ ต้องดูเงื่อนไขกันอีกที เพราะหากให้มีการโหวตเลือกนายกฯเลย ไม่มีใครทำนายได้ มันจะจบอย่างไร มันอาจจะวุ่นวายไปจนกระทั่งถึงเอเปกก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นประเทศก็อาจจะเสียหายได้ โจทย์มันไม่ง่ายเรื่องนี้

 “ผมไม่คิดว่าจะอยู่ครบวาระ แต่จะยุบเมื่อไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลัง 30 กันยายน ที่บอกข้างต้นว่าออกได้สองทาง แต่ไม่ว่าจะออกทางใด การเมืองหลังจากนั้นเข้มข้นแน่ เพราะมันปลายสมัยแล้ว อย่างเพื่อไทยก็หวังจะได้เสียงข้างมากหลังเลือกตั้ง ภูมิใจไทยก็หวัง”