ข่าวประจำวัน » ยกฟ้อง 112 !! ศาลพบเป็นผู้ป่วยทางจิต ทำลายพระบรมรูปในหลวง

ยกฟ้อง 112 !! ศาลพบเป็นผู้ป่วยทางจิต ทำลายพระบรมรูปในหลวง

7 September 2024
21   0

วันที่ 4 ก.ย. 2567 ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีของ “แต้ม” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวชวัย 34 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ จากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 จุด ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564

โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กล่าวคือ ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเห็นว่า ขณะก่อเหตุแต้มมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง แต่ไม่ถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ลงโทษสถานเบาโดยให้รอลงอาญา และยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากจำเลยกระทำการในขณะมีความผิดปกติทางจิต จึงไม่ชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่    

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของแต้มไม่ได้แสดงถึงการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเห็นว่า แม้แต้มจะเป็นโรคจิตเภท ที่มีอาการเรื้อรังมา 10 ปี แต่ขณะก่อเหตุแต้มไม่ถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้ลงโทษสถานเบา จำคุก 3 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกและปรับให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้เข้ารับการรักษาอาการจิตเภทที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ กับให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 20,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี 

แต่ต่อมา พนักงานอัยการศาลสูงจังหวัดอุบลราชธานียื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลยสถานหนักในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ด้วย โดยอ้างว่า จำเลยสามารถพูดคุย ขับรถ และทุบป้ายได้ ไม่ได้ฟั่นเฟือน ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์เทียบเท่าองค์พระมหากษัตริย์ 

ก่อนที่ทนายจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุแต้มไม่สามารถรู้สำนึกและควบคุมการกระทำของตนเองได้ อีกทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้เทียบเท่าองค์พระมหากษัตริย์

.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ธีรยุทธ เจริญผลอนันต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดอุบลราชธานี อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2567 ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาที่ประกอบด้วย สุนันทา ผดุงเกียรติวงศ์, วิวุฒิ มณีนิล และสุทธิมาลย์ วิริยะการุณย์ วินิจฉัยไว้ว่า 

จำเลยมีมารดาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยป่วยเป็นโรคประสาทมาประมาณ 12 ปี เคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตระการพืชผล แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จำเลยรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ หากไม่ได้รับประทานยาจะมีอาการหงุดหงิดและทำลายสิ่งของในบ้าน ก่อนวันเกิดเหตุไม่ได้รับยามาประมาณ 5 วัน หลังเกิดเหตุจำเลยบอกว่ามีเสียงสั่งให้ทำ หากไม่ทำจะมีอันเป็นไป 

และสิปณัฐ ศิลาเกษ จิตแพทย์ เบิกความว่า ตำรวจพาจำเลยมาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์เพื่อรักษาอาการทางจิต และขอให้พิจารณาความสามารถในการต่อสู้คดี คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า จำเลยเป็นโรคจิตเภทและโรคติดสุรา แต่มีความสามารถในการต่อสู้คดีได้ จำเลยมีประวัติการรักษามาก่อนเกิดเหตุประมาณ 10 ปี 

โรคจิตเภทเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดแตกแยกออกไป ทำให้หลุดจากความจริง หวาดระแวง กลัว ควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งหมายถึงบางครั้งรู้ว่ากำลังทำสิ่งใด แต่ควบคุมไม่ให้กระทำการดังกล่าวไม่ได้ และบางครั้งอาจไม่รู้สึกตัว สันนิษฐานว่าเกิดจากความปกติของสมอง เป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติหากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ลักษณะจิตเภทของจำเลยจะเด่นชัดในด้านมีความคิดแปรปรวน ไม่เป็นความจริง หลงผิด เข้าใจว่าตัวเองมีพลังวิเศษ ประสาทการรับสัมผัสบิดเบือน หูแว่ว เป็นภาพหลอน 

อาการของโรคดังกล่าวมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงมีพฤติกรรมหวาดระแวงมาก ควบคุมตัวเองไม่ได้ หากอาการไม่รุนแรงอาจพูดคุยรู้เรื่อง มีสติดี หากมีอาการรุนแรงอาจพูดคุยรู้เรื่องในเวลาปกติ แต่ขณะอาการกําเริบอาจพูดคุยไม่รู้เรื่อง สารเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ เมทแอมเฟตามีน อาจมีส่วนกระตุ้นให้อาการทางจิตรุนแรงขึ้น

เห็นว่า แม้จิตแพทย์ไม่เบิกความยืนยันว่าจำเลยมีจิตฟั่นเฟือนตลอดเวลาดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ได้ความจากพยานปากนี้ว่า ขณะเกิดเหตุไม่มีผู้ใดสามารถทราบได้ว่าจำเลยมีสติสัมปชัญญะ รู้สำนึกในการกระทำของตนหรือไม่ แต่จากประวัติซึ่งจำเลยขาดการรักษามาระยะหนึ่ง ดื่มสุรา และลักษณะของโรคเรื้อรังไม่หายขาด จึงอนุมานได้ว่าช่วงเกิดเหตุจำเลยมีอาการจิตเภท ดังนี้ เมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของจิตแพทย์ที่ตรวจรักษาจำเลย ประวัติการตรวจรักษา ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ ไพโรจน์ วรรณฉัตร ว่า ขณะจำเลยขับรถจักรยานยนตร์มาหยุดที่กลางถนนด้านหน้าโรงเรียนตระการพืชผลนั้น จำเลยส่งเสียงเอะอะโวยวาย พูดไม่เป็นภาษา ทำให้เชื่อได้ว่า ขณะที่จำเลยทุบทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 3 แห่งนั้น จำเลยมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน 

ส่วนการที่จําเลยไม่รับประทานยาและดื่มสุรา อันเป็นการกระทําของจําเลยเอง หาใช่เหตุที่จะนํามารับฟังว่าจําเลยไม่ได้กระทําการตามฟ้องขณะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ไม่

แต่พฤติการณ์ที่จำเลยทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ 3 แห่ง แต่ละแห่งอยู่ห่างกันและไม่ทำลายทรัพย์สินอื่น แสดงให้เห็นว่า ขณะที่กระทำการดังกล่าวยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้

สำหรับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ได้ความจากไพโรจน์และชินกาญ พยานโจทก์ ว่า จำเลยเขย่า ถีบ และใช้ไม้ไผ่ฟาดพระบรมฉายาลักษณ์ที่กลางถนนด้านหน้าโรงเรียนมัธยมตระการพืชผลหลายครั้งจนขาด จำเลยใช้เหล็กสำหรับเสียบเสาธงขว้างและเกี่ยวพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณเกาะกลางถนนหน้าหน่วยกู้ภัยตระการร่วมใจคุณธรรมจนขาด แม้การกระทำของจำเลยเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยกระทำขณะมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน กรณีจึงเป็นการไม่แจ้งชัดว่า จำเลยกระทำโดยมีเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีเหตุให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้น 

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.