10 ก.ย.60 ดร.สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)
กล่าวถึงกระแสเคลือบแคลงสงสัยของสังคม ต่อร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ที่จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ ไม่ใช่การปฏิรูปตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างนั้น มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องชี้แจงประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้ข้อยุติที่สังคมสิ้นข้อสงสัย และสร้างหลักประกันว่าจะเป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจริงๆ ไม่ใช่การแปรรูปหรือเอารัฐวิสาหกิจไปขายเหมือนความพยายามของรัฐบาลก่อนหน้านี้
ซึ่งมีประเด็นมากมายในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ดูเหมือนมีการซ่อนเงื่อนปม เพื่อผ่องถ่ายทรัพย์สินของแผ่นดินไปอยู่ในมือนายทุนเอกชน ซึ่งอาจเป็นนายทุนต่างชาติด้วย เช่น เป้าหมายของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เน้นการแข่งขันเชิงพาณิชย์มากกว่าการบริการประชาชนหรือไม่ ความเป็นรัฐวิสาหกิจจะพ้นไปโดยอำนาจของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือไม่ สัดส่วนที่มาของ คนร.มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมืองล้วนๆ จะปลอดจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ รวมทั้งสถานภาพของบริษัทลูกหรือบริษัทย่อยๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาก็ไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่ารัฐต้องถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไร ฯลฯ
แนวหน้า – ดร.สุริยะใส กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติและคนทุกกลุ่ม ถ้าผิดพลาดคนแบกรับภาระคือประชาชนเพราะรัฐบาลมาแล้วก็ไป จึงต้องรอบคอบรับฟังความเห็นทุกฝ่ายอย่างจริงจังซึ่งไม่มีใครคัดค้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพราะทุกคนก็เห็นปัญหาคล้ายๆกับที่รัฐบาล แต่แนวทางและมาตรการที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าเป็นห่วงว่าสุดท้ายแล้วเป้าหมายปลายทางอาจไม่ต่างจากความพยายามของนักการเมืองหรือรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่มุ่งเอารัฐวิสาหกิจไปขายในตลาดหลักทรัพย์
“ที่สำคัญเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติด้วย จึงไม่จำเป็นต้องรวบรัดตัดตอนผลักดันเป็นกฎหมาย ทั้งๆ ที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ยังไม่ได้จัดทำเนื้อหาสาระใดๆ พึ่งแต่งตั้งกรรมการ จึงควรระงับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปก่อน และรับฟังความเห็นของสังคมวงกว้างตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ด้วยน่าจะเป็นทางออกที่ดี และเป็นการลดอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองไปด้วย” นายสุริยะใส กล่าว