2 ม.ค.64 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ขั้นที่ 1 เริ่ม 4 ม.ค. – 1 ก.พ.64 หากตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลง ก็จะยกระดับเป็นขั้นที่ 2 คือ จำกัดเวลาเปิด-ปิด สถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น (รวมทั้งจำกัดการเปิดกิจการบางประเภทด้วย) เหมือนกับช่วงล็อกดาวน์ แต่เราไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ตรงนี้ ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด แต่ตอนนี้ยังเดินทางได้ ถ้าปฏิบัติตาม 6 ข้อมาตรการป้องกันได้ ก็ยังมีอิสระดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องตั้งด่านเต็มไปหมด เพียงแต่ประกาศหรือไม่ประกาศเคอร์ฟิวเท่านั้น
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คิดว่าคงไม่ประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลาข้างหน้า เพื่อที่ทุกอย่างได้ดำเนินการไป สถานศึกษายังคงหยุดเรียน การสอนเว้นกิจกรรมที่มีความจำเป็น เช่น เป็นการให้อาหารกลางวันกับเด็กในถิ่นทุรกันดาร ยังถือว่าจำเป็น เร่งรัดและเพิ่มการทำงานแบบ Work from Home อย่างเต็มขีดความสามารถ เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่เสี่ยง กิจกรรม/กิจกรรมเสี่ยง กลุ่มบุคคลเสี่ยง จำกัดเวลาออกนอกเคหะสถานในพื้นที่ ศปก.จังหวัด กำหนด ห้วงเวลาดำเนินการตามที่นายกฯในฐานะ ผอ.ศบค.เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการฯในเงื่อนไขที่ศบค.กำหนด
ทั้งนี้ เรื่องของจำกัดเวลาออกนอกเคหะสถานในที่ประชุมมีการพูดคุยกันมาก ถ้ามีตรงนี้เกิดขึ้น จังหวัดสามารถออกได้เองเข้มกว่าศบค.ออกได้ แต่อ่อนกว่าไม่ได้ ต่อไปศบค.ในพื้นที่แต่ละจังหวัดจะเป็นคนกำหนด ถ้าเป็นคนที่ในจังหวัดติดเชื้อสูงมากๆอาจจะล็อกดาวน์ก็เป็นไปได้ ต้องยืดหยุ่นในแต่ละพื้นที่ ถ้าคิดว่าจังหวัดตัวเองถูกล็อกดาวน์แล้วไปอยู่จังหวัดข้างๆ กับจังหวัดข้างๆก็ต้องถูกล็อกพื้นที่มากขึ้น เพราะฉะนั้น 28 จังหวัดถือว่ารับชะตากรรมเดียวกัน จริงๆไม่อยากให้เครียดเพราะเชื้อไวรัสตัวนี้ไว้ใจไม่ได้ เพราะมามากขนาดนี้
เมื่อถามว่า ประชาชนส่วนหนึ่งอยากให้มีการล็อกดาวน์ และอีกส่วนหนึ่งไม่อยากให้ล็อกดาวเนื่องจากได้รับผลกระทบ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมศบค.ที่มีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานประชุมศบค.ได้มีการพูดคุยกันและได้มีการยกตัวอย่างว่าการล็อกดาวน์แบบมีเคอร์ฟิว ก็ยังพบตัวเลขการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ทั้งการเล่นการพนันและการออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการที่จะใช้ยาแรงก็ไม่สามารถจัดการกับคนที่ทำไม่ถูกต้องได้ แต่กลับทำให้คนที่ทำสัมมาอาชีพสุจริตต้องเดือดร้อน ตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือ เพราะการใช้กฎหมายจะไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ การใช้ยาแรงก็ไม่ใช่ผลบวกกับเรา แต่จะส่งผลกระทบภาพรวมกับเศรษฐกิจ จึงจะใช้วิธีการหากเจ็บไข้ตรงไหนใช้ยาแรงตรงนั้น และถ้าจะอธิบายเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ เราไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการสังคมที่มันแรงเกินไป