ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #ยังไม่ใช่อวสานของการบินไทย ! ดร.เทอดศักดิ์ ฟันธงนี้คือแผนฟื้นฟูที่ดีที่สุด

#ยังไม่ใช่อวสานของการบินไทย ! ดร.เทอดศักดิ์ ฟันธงนี้คือแผนฟื้นฟูที่ดีที่สุด

14 May 2020
1872   0

ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ การเมือง การปกครอง ได้โพสข้อความระบุว่า ยังไม่ใช่อวสานของการบินไทย

การแสดงความคิดเห็นของนักการเมืองทำให้คนไทยได้เห็นว่า นักการเมือง มีสติปัญญาเพียงใดในการแก้ไขปัญหาการบินไทยในยามสถานการณ์วิกฤติ ที่มองเพียงแต่ข้อบกพร่อง โยนความผิดไปให้กันไปมา และจะหาทางออกเพียงการใช้กฎหมายล้มละลาย แล้วเอาภาษีประชาชนไปอุ้ม ขายทิ้งอย่างไร้ค่า จนดูน่าสมเพชอันสร้างความไม่พอใจ สร้างภาระให้กับประชาชนต้องมาใช้หนี้ อย่างไม่มีเหตุจำเป็น

 

การบินไทยเป็นองค์การมหาชนที่กระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 60 มีกระทรวงคมนาคมกำกับดูแล มีผู้ถือหุ้นเป็นสหกรณ์ต่างๆ 74 องค์กร รัฐบาลจึงมีหน้าท่ีในการกำกับดูแล ตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2502 สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ก่อตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ สายการบินแห่งชาติ ที่มีพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดสายการบินไทยเที่ยวบินแรก อันเป็นหน้าตาของแผ่นดินไทย เกิดความเชื่อมั่นในไทยในการลงทุนมากขึ้น

การบินไทยเคยทำกำไรหลายครั้ง ผลของการกำไร ก็ปันหุ้นและปันคืนสู่คลังไปใช้ในการพัฒนาประเทศ สาเหตุหลักๆที่ทำให้อยู่ในสภาวะขาดทุนเพราะการทุจริต การบริหารเกินตัว และอัตราการจ้างงานที่สูงลิบลิ่ว เมื่อเจอสถานการณ์ไวรัสเพียงไม่กี่เดือน ก็ถึงขั้นวิกฤติทันที

การจะชุบชีวิตกลับคืนมานั้น สามารถทำได้ไม่ยาก ง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาไวรัสที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกด้วยซ้ำไป ที่ไทยทำสำเร็จมาแล้ว จนทั่วโลกต้องตะลึง ยกย่องกันถ้วนหน้า จนเป็นตัวแบบแก่อารยะประเทศ กับยุทธการ “ไวรัสพินาศ ประชาชนพ้นภัย” จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ คนตายเป็นศูนย์ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563

โดยต้องเปิดยุทธการ “รักคุณเท่าฟ้า” มี 3 ยุทธวิธีคือ ปรองดอง กู้ชีวิต และ พลิกฟื้น ในระยะสั้น กลาง ยาว

1.การปรองดอง นั้น ตั้งให้คน 4 ระดับ ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันในการแก้ปัญหาจากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ประกอบด้วย 1.รัฐบาล 2.บอร์ด 3.ผู้บริหาร และ4.พนักงาน ในการระดมทางความคิด เพื่อ ร่วมมือกัน อันจะลดความขัดแย้งภายในองค์กรที่มีบุคลากรมากกว่าสองหมื่นสองพันคน จะยอมรับในคำสั่งอื่นใดที่จะเกิดการปฎิรูปภายในองค์กร เช่น การลดจำนวนผู้บริหาร ที่มีอัตราเงินเดือนสูง ซ้ำซ้อน ให้เป็นองค์กรที่มีขนาดกระชับ และ มีคุณภาพ ลดการใช้สิทธิพิเศษ VIP การขายตั๋วโดยไม่ผ่านตัวแทน

การแยกส่วนงานให้เอกชนดำเนินการแทน อาทิ ครัวการบินไทย พนักงานขับรถ มีกำหนดระยะเวลาสัญญา 5-10 ปี ขึ้นไป แลกกับการเงื่อนไขเอกชน ซื้อแผนกนี้ พร้อมอุปกรณ์ รับพนักงานเหล่านี้ไปทำการดูแล ไม่ต้องตกงาน การบินไทยจะเป็นผู้ป้อนงานให้ เป็นต้น

2.กู้ชีวิต นั้น ให้ออกพันธบัตรรัฐบาล ให้กระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทำการค้ำประกัน ในวงเงิน 5 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท แล้วให้การบินไทยทำการกู้ยืมไปลงทุน ในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง นั่นหมายถึง ผู้ถือหุ้นต้องรับภาระหนี้ร่วมกัน และไม่จำเป็นต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไป ฟื้นฟูการบินไทยอีกต่อไป

การเจรจาหนี้ ให้ผู้บริหารเจรจาเจ้าหนี้ เพื่อผ่อนชำระหนี้ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ เจ้าหนี้ก็จะไม่ต้องการให้หนี้สูญ และทราบเป็นอย่างดีว่า เกิดเหตุเช่นนี้ในทุกสายการบินทั่วโลก

การปราบปรามการทุจริต ควรดำเนินการร้องทุก กล่าวโทษ นักการเมือง บอร์ด ที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กร โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสหนึ่งฝูง ที่จอดทิ้งไว้ที่อู่ตะเภา และคดีที่ศาลอังกฤษได้มีการตัดสินกระบวนการฉ้อฉลระดับสากลไปแล้วว่ามีความผิดจริง ที่ โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce)สารภาพว่าได้ทุจริตคดีอื้อฉาว เงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ไทยทั้งระดับการเมือง ข้าราชการประจำและผู้ใหญ่ในการบินไทยเป็นยอดเงินกว่า 1,200 ล้านบาทในช่วง ปี ค.ศ. 1991-2005 ถึง 3 ครั้ง ในการจัดซื้อเครื่องยนต์ ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ร้องทุกข์แต่อย่างใด

การขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นนั้น ควรชะลอการจำหน่ายไว้ก่อน จนกว่าจนถึงปี 2564 เพราะจะได้ราคาที่ดีขึ้น และอาจต้องกลับนำมาใช้ เพราะจำหน่ายในเวลานี้จะไม่ได้ราคา ยามทุกสายการบินขาดทุน เมื่อเติบโตก็อาจจะได้ใช้อีก เว้นแต่มีความจำเป็นเร่งด่วน

3.พลิกฟื้น นั้น กระทรวงคมนาคม การบินไทย ที่กำกับดูแลตามกฎหมาย จะต้องขอความร่วมมือกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในการสร้างกิจกรรม การท่องเที่ยวร่วมกัน เช่น โรงแรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว โปรแกรม ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ในระยะ สั้น กลาง ยาว หลังเปิดการบินได้ปกติทั้งหมดราว มิถุนายน-กรกฎาคม เป็นต้นไป

ให้กระทรวงคมนาคม การบินไทย ประสานกระทรวงพาณิชย์ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่จะอำนวยความสะดวกนักลงทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จัดการเดินทาง ที่พัก ในระดับ VIP เลิกการกีดกัน รีดไถ นักลงทุน และยกเลิก (นิรโทษกรรม)ผู้ที่เคยถูกห้ามลงทุนในไทย ให้กลับมาลงทุนได้ อันเป็นนโยบายสำคัญ เพราะพ้นโควิดระบาด ทั่วโลกจะแห่มาลงทุน จากความเชื่อมั้นในมาตรการของไทย ในการแก้ไขปัญหาโควิด

สิ่งเหล่านี้คือมาตรการระยะสั้น ในเฟสแรกที่ควรไปดำเนินการ แล้วปรับยุทธวิธีให้เข้ากับสถานการณ์ เหมือนกับยุทธการ “ไวรัสพินาศ ประชาชนพ้นภัย” ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

ในยุทธการ “ไวรัสพินาศ ประชาชนพ้นภัย” อันเกี่ยวข้องกับการบินไทย นั้น จะต้องเริ่มเปิดการบินภายในประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ในเดือนมิถุนายน จะสามารถเปิดนอกประเทศ นั้นหมายถึง การบินไทยจะบินได้ในต่างประเทศด้วย แต่จะเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อต่างประเทศที่ปิดประเทศ จะกลับมาเปิดได้ปกติ ในเดือนกรกฎาคม 2563

หากเดินตามยุทธการ “รักคุณเท่าฟ้า” ควบคู่ไปกับ ยุทธการ “ไวรัสพินาศ ประชาชนพ้นภัย” จะทำให้การบินไทยเริ่มมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป และในปลายปี 2563 ช่วงฤดู การท่องเที่ยว คริสมาสต์ และ ปีใหม่ ก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยจะใช้เวลาพลิกฟื้นคืนชีวิต อย่างช้าไม่เกิน 3-5 ปี หากเดินถูกทางก็จะกลับมามีผลกำไร สามารถคืนหนี้ได้จนหมดจนสิ้น

เพียงแค่นี้ก็จะแก้ปัญหาสถานการณ์วิกฤติในการบินไทย รัฐบาล บอร์ด ผู้บริหาร พนักงาน ประชาชน ก็จะพึงพอใจ ไม่จำเป็นต้องเกิดการล้มละลายของการบินไทยในยุค “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เหมือนสายการบินโคลัมเบียในปัจจุบัน ที่โลกจะจารึกประวัติศาสตร์แห่งความล้มเหลวอีกต่อไป อันจะเป็นหน้าตา ภาพลักษณ์ ของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ในภายนี้และภายหน้าต่อไปในระยะยาว แก่อนุชนรุ่นหลังที่นำพาชาติผ่านพ้นวิกฤติมาได้

“ บัดนี้ยังไม่ใช่อวสาน แต่มันคือโอกาสทองแห่งการเริ่มต้น ”

ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา
14 พฤษภาคม 2563