2 ต.ค. 2565 – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ตัวช่วย กับ เวลาที่เหลืออยู่ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถามผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 1,159 ตัวอย่างครัวเรือน ระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 3 ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95
เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อ การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ยอมรับได้ หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ทำงานต่อ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า ร้อยละ 35.8 ระบุทำงานต่อไป เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ร้อยละ 28.4 ระบุยุบสภาทันที แต่ร้อยละ 28.0 ระบุยุบสภา หลังประชุม เอเปค ร้อยละ 26.9 ระบุ ลาออกทันที และร้อยละ 25.4 ระบุ ปรับคณะรัฐมนตรี
ที่น่าสนใจคือ สมการความน่าจะเป็นของโมเดลผู้ที่เหมาะสมกับการเป็น นายกรัฐมนตรี จำแนกตาม ฐานสถานะของแกนนำการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พบว่า อันดับหนึ่งได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 22.5 อันดับสองได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 12.5 และอันดับสาม ได้แก่ นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 3.5
ในกลุ่มฝ่ายค้าน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 19.2 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 11.4 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 3.5 นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ร้อยละ 2.8 ในกลุ่มตัวช่วยผู้ไม่สังกัดฝ่าย พบว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร้อยละ 10.1 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 10.0 และอื่น ๆ ร้อยละ 4.5 ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ที่น่าพิจารณาคือ สมการ ความนิยมทางการเมืองของประชาชนส่วนประกอบสร้างรัฐบาลเข้มแข็งขับเคลื่อนประเทศ ทำงานตอบโจทย์ตรงเป้า แก้เศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน พบว่า สมการที่ 1 คือผลรวมคะแนนนิยมรัฐบาลได้ร้อยละ 38.5 ผลรวมคะแนนนิยมฝ่ายค้านได้ร้อยละ 36.9 ผลรวมคะแนนนิยมกลุ่มตัวช่วยได้ร้อยละ 24.6 ผลลัพธ์ประเมินความเสี่ยงการเมืองคือ พลังความนิยมของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ มีแรงเสียดทานมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำผลรวมคะแนนนิยมจากกลุ่มตัวช่วยบางส่วนมารวมกับผลรวมคะแนนนิยมรัฐบาล พบว่า สมการที่ 2 คือ ผลรวมคะแนนนิยมรัฐบาล รวมกับผลรวมคะแนนนิยมกลุ่มตัวช่วยบางส่วนได้ร้อยละ 48.6 ผลรวมคะแนนนิยมฝ่ายค้านได้ร้อยละ 36.9 และผลรวมคะแนนนิยมกลุ่มตัวช่วยที่เหลือได้ร้อยละ 14.5 ผลลัพธ์ประเมินความเสี่ยงการเมืองคือ พลังความนิยมของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง มีแรงเสียดทานค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ สมการที่ 3 คือ ผลรวมคะแนนนิยมรัฐบาล รวมกับผลรวมคะแนนนิยมกลุ่มตัวช่วยทั้งหมดได้ร้อยละ 63.1 ผลรวมคะแนนนิยมฝ่ายค้านได้ร้อยละ 36.9 ผลลัพธ์ประเมินความเสี่ยงการเมืองคือ พลังความนิยมของประชาชนอยู่ในระดับค่อนข้างมาก มีแรงเสียดทานน้อย
ที่น่าพิจารณาคือ ความต้องการของประชาชน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 ต้องการให้คนไทยทุกคน เตรียมตัว เตรียมประเทศ พร้อมต้อนรับ นานาชาติ จัดประชุม เอเปค ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชน ร้อยละ 80.3 ต้องการให้ คนไทยทุกคน เคารพการตัดสินของ ศาลรัฐธรรมนูญ กรณี 8 ปี นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อได้ และร้อยละ 73.7 ต้องการให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเข้าทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรี ทันที หลังศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินเสร็จสิ้นแล้ว
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ข้อเสนอจากผลสำรวจโพลครั้งนี้คือ ให้เลือก สมการที่ 2 และสิ่งดีจะเกิดขึ้นได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันรักษาบ้านเมืองให้สงบสุข ประเทศชาติก็เคลื่อนต่อได้ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะได้ประโยชน์แบบค่อยเป็นค่อยไป (ช้าแต่ดี) แต่ถ้าปล่อยให้ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย กลุ่มแกนนำเคลื่อนไหวการเมืองให้รุนแรงได้ประโยชน์ กลุ่มธุรกิจยุยงปลุกปั่นยอดปั่นกระแสในโลกโซเชียลได้ประโยชน์ และกลุ่มคนบางกลุ่มอีกเพียงหยิบมือเดียวได้ประโยชน์ แต่ประชาชนส่วนใหญ่และบ้านเมืองจะสะดุดกันหมดอาจจะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่คนส่วนใหญ่และนานาชาติไม่อยากเห็นให้เกิดในประเทศไทย