เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 ต.ค.2563 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส.กัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล โฆษก กอร.ฉ. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.สิรวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงสถานการณ์การชุมนุม ในรอบวันที่ผ่านมา น.ส.กัญญ์ณาณัฏฐ์ กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. มีการชุมนุมในจุดสำคัญ 2 จุด คือที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และที่ลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีการรวมกลุ่มกัน 2 คือ กลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบัน และกลุ่มคณะราษฎร 2563
“เมื่อวานทุกคนได้เห็นภาพไปแล้วว่ามีเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้น เป็นภาพของกลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบัน เข้าไปทำร้ายร่างกายกลุ่มคณะราษฎร วันนี้อยากให้ทุกท่านได้เห็นอีกมุมหนึ่งว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก่อนที่จะมีเหตุปะทะ ทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้น”
จากนั้น ทีมงาน กอร.ฉ. เปิดคลิปวิดีโอเหตุการณ์ให้สื่อมวลชนได้รับชม ซึ่ง น.ส.กัญญ์ณาณัฏฐ์ บรรยายว่า ก่อนที่จะเป็นภาพกลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบัน กระทำการรุนแรง ก็จะเป็นอีกฝั่งหนึ่งที่กลุ่มคณะราษฎร มีการใช้วาจายั่วยุ หยาบคาย สิ่งที่กำลังจะบอกทุกท่านคือ เราไม่ได้มาเพื่อบอกว่าฝั่งใดผิดไปมากกว่ากัน ในเหตุการณ์นี้ถ้าไม่เกิดการยั่วยุ ด้วยวาจาถ้อยคำที่รุนแรง ด่าทอกันตั้งแต่แรก ก็คงจะไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องไปจนทำให้มีอารมณ์โมโหกันขึ้นมา แล้วนำมาซึ่งการทะเลาะวิวาท จุดเริ่มต้นมันอยู่ตรงนี้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผลในตัวมันเอง จึงอยากให้ทุกท่านนำเสนอให้ครบทั้งสองด้าน ฝั่งความผิดมากหน่อยคงเป็น กลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบัน ที่เข้าไปทำร้ายร่างกาย ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่เราแค่อยากเตือนสติว่าให้รับข้อมูลข่าวสารทั้งสองฝั่ง ถ้าเราถอยกันมาคนละก้าว เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ยั่วยุ ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงการณ์ เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทาง กอร.ฉ.อยากฝากไปถึงผู้ชุมนุมทุกกลุ่มที่ออกมาแสดงจุดยืนต่างๆ วันนี้หากท่านพูดคุยกันและแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานความสร้างสรรค์ ไม่ใช้ถ้อยคำสร้างความแตกแยก เกลียดชัง ทิศทางของการหาข้อสรุปแก้ปัญหาประเทศมันจะง่ายกว่านี้
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กรณีตำรวจ สน.ลุมพินี ได้นำหมายศาล เข้าไปจับกุมตัว น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือน้องมายด์ แกนนำเยาวชนปลดแอก ในความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการจับกุมตามหมายจับที่มีมาก่อนหน้านี้ หากตำรวจไม่จับกุมก็จะเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนที่มีการระบุว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุม น.ส.ภัสราวลี ในยามวิกาลนั้น ยืนยันว่าตำรวจทำตามขั้นตอนกฎหมาย ทั้งการแสดงตัว การแจ้งข้อกล่าวหาและการแจ้งสิทธิ์ อีกทั้งสถานที่จับกุมเป็นร้านอาหารกึ่งร้านกาแฟ ซึ่งไม่ใช่สถานที่ปิดลับ หรือซ่อนเร้นแต่อย่างใด ซึ่งน.ส.ภัสราวลี ได้ขอใช้สิทธิ์เรียกทนายความ โดยทางตำรวจก็อนุญาตให้ใช้สิทธิ์นั้น
ส่วนประเด็นที่ตำรวจขอเลขบัญชี ของ น.ส.ภัสราวลี ในระหว่างจับกุมนั้น คาดว่าจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในขั้นตอนการประกันตัว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประกาศจากนายกรัฐมนตรีขอให้มีการถอยคนละก้าวระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่การเข้าจับกุมในครั้งนี้ตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่ เมื่อมีการออกหมายจับต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงหมายเรียกและหมายจับบุคคลอื่นๆ ที่มีการออกไปแล้วก่อนนี้หน้านี้ด้วยเช่นเดียวกัน
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง แจ้งความกับตำรวจแล้ว ยืนยันว่าตำรวจจะสืบสวนทำคดีอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าผู้ชุมนุมฝ่ายใดทำผิด ก็ต้องดำเนินคดีในมาตรฐานเดียวกันจะต้องมีการตรวจสอบกลุ่มคนเสื้อเหลืองในทุกมิติเช่นกัน ว่ามีการชักชวนให้มีการชุมนุมหรือไม่ รวมถึงมีท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่ หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีการทบทวนและปรับการดำเนินการให้เหมาะสม และเป็นไปตามกฎหมายที่เปิดช่องให้ ส่วนการจัดกำลังดูแลการชุมนุม ยังคงให้กองร้อยควบคุมฝูงชน ปฏิบัติหน้าที่ดูแลสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมเชื่อว่าหากถอยคนละก้าว โดยใช้กลไกรัฐสภาสถานการณ์จะดีขึ้น
ขณะที่ พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวว่า หลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษา ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้อง กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ กอร.ฉ. ที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่งดังกล่าว ก็จำเป็นต้องยุติการทำหน้าที่ด้วยเช่นกัน แต่จะปรับไปเป็นรูปแบบอื่น ซึ่งการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ ผบ.ตร.เป็นผู้ประเมินสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่า สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว หลังจากนี้ ตำรวจจะกลับไปใช้กฎหมายปกติดูแลการชุมนุม เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญาทั่วไป