วัดสะตือ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๐ บ้านท่างาม หมู่ที่ ๖ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตามหลักฐานเดิมวัดมีพื้นที่ประมาณ ๓๗ ไร่ แม่น้ำป่าสักได้กลืนที่ดินวัดแหว่งเว้าไปทีละนิด ทีละหน่อย ตั้งแต่สร้างเขื่อนพระราม ๖ เป็นต้นมา ที่ดินหน้าวัดหายลึกไปประมาณ ๒๐ วา เมื่อทางกรมที่ดินออกโฉนดที่ดินวัดให้ใหม่เหลือที่ดินซึ่งมีเนื้อที่เพียง ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๘๐ ตารางวา เลขที่โฉนดที่ดิน ๗๐๗๑ เลขที่ดิน ๖๙๙ อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๒๔๐ เมตร ติดต่อกับที่ตั้งบ้านเรือนของประชาชน ทิศใต้ยาว ๔๐ เมตร ติดต่อกับที่ตั้งบ้านเรือนของประชากร ทิศตะวันออกยาว ๑๖๐ เมตร ติดต่อกับแม่น้ำแควป่าสัก ทิศตะวันตกยาว ๒๔๐ เมตร ติดต่อกับถนนเข้าหมู่บ้าน
อาคารเสนาสนะต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย พระอุโบสถกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๒.๙๐ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๔๙๘ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโดย พลตรีมนูญกฤษ รูปขจร ในครั้งที่ ๑ ซึ่งบ้านเกิดอยู่หลังองค์พระพุทธไสยาสน์ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ พระอธิการทองคำ คัมภีรปัญโญ เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ทำการบูรณะ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุมการบูรณะ ศาลาการเปรียญเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๒.๗๕ เมตร ยาว ๒๑.๕๐ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นอาคารคอนกรีต สูงใหญ่ ๒ ชั้น หอสวดมนต์กว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๑๘.๕๐ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น กุฎีสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ หอฉันเป็นอาคาร
คอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้มีวิหาร กว้าง ๗.๘๐ เมตร ยาว ๒๐.๙๐ เมตร ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายมีรูปทรงเป็นเรือสำเภา สมเด็จพุฒาจารย์โต ได้พักอาศัยเมื่อคราวมาคุมการก่อสร้างองค์พระพุทธไสยาสน์ และได้มีการบูรณะขึ้นใหม่โดยพลเอกสำราญ แพทยกุล เป็นผู้บริจาคงบในการบูรณะ ศาลาดินหรือวิหารสมเด็จ หลังเดิมเป็นอาคารไม้โปร่งมุงด้วยสังกะสี ลักษณะการก่อสร้างใช้สลักเดือยแทนตะปู สมเด็จพุฒาจารย์โต ได้มาพักอาศัยเมื่อคราว มาคุมการก่อสร้างองค์พระพุทธไสยาสน์ ต่อมาได้มีการปรับปรุงและก่อสร้างวิหารคู่เป็นอาคารชุดเชื่อมต่อกับศาลาดิน ศาลาน้ำหรือศาลาริมแม่น้ำป่าสัก เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บริเวณเศียรองค์พระพุทธไสยาสน์ หอระฆังคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้าง พ.ศ. ๒๕๑๓ ศาลาบำเพ็ญกุศลเป็นศาลาคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ๑ หลัง ศาลาไม้ชั้นเดียว ๑ หลัง และฌาปนสถาน ซึ่งปรับปรุงใช้เป็นเตาน้ำมัน เป็นวัดแห่งแรกในอำเภอท่าเรือเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ศาลาจำหน่ายวัตถุมงคลสร้าง วางศิลาฤกษ์โดยพลอากาศเอกมนัส รูปขจร พ.ศ. ๒๕๔๐ เขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กกันดินพัง ริมแม่น้ำป่าสัก ของเดิมสร้างในสมัยพระครูพุทธไสยาภิบาล และสร้างเขื่อนเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๘ ในสมัยพระครูปริยัตยาธิคุณ ใช้งบก่อสร้างและซ่อมแซม ๖,๐๓๑,๐๘๘ บาท ก่อสร้างโรงอาหาร พ.ศ. ๒๕๕๐ ใช้งบ ๘๙๖,๐๑๐ บาท ห้องน้ำห้องสุขา พระครูปริยัตยาธิคุณ ได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นห้องน้ำในระดับ ๕ ดาว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ใช้งบก่อสร้าง ๔,๕๓๑,๔๑๐ บาท
ปูชนียสถานวัตถุ และปูชนียวัตถุ มี พระประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๕ นิ้ว สูง ๑๒๖ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ พระปรางค์นาคปรก สมัยทวาราวดี(ลพบุรี) เนื้อหินทราย กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุไว้ รอยพระพุทธบาทจำลอง มีอายุการสร้าง ๑๐๐ กว่าปี เกศเก่าพระพุทธไสยาสน์เก็บไว้ในวิหาร พระพุทธไสยาสน์(หลวงพ่อโต) สร้าง พ.ศ. ๒๔๑๓ ประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัด เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง วัดสะตือ สร้างขึ้นเป็นวัดนับแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ เดิมตั้งอยู่ทางทิศเหนือขึ้นไปไม่ไกลนัก ที่เรียกว่า วัดสะตือ เพราะมีต้นสะตือใหญ่เป็นนิมิต ต่อเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้มาดำเนินการสร้างพระพุทธไสยาสน์แล้ว วัดสะตือจึงได้ย้ายมาตั้งที่บริเวณพระนอนนี้และ เรียกนามตามชื่อตำบลว่า “วัดท่างาม” กาลต่อมา สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่๕ ได้เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาท ได้เสด็จขึ้นที่ท่าตำบลนี้ ๒ ครั้ง แต่นั้นมาจึงเรียกตำบลว่า “ตำบลท่าหลวง” และเรียกนามวัดว่า “วัดท่าหลวง” แต่ต่อมากลับไปเรียกว่า “วัดสะตือ” ตามนามเดิมอีก ซึ่งยุติต้องกันกับการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒
ตามจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๕ ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) ได้กินข้าวกลางวันที่วัดท่างาม ทรงทำครัวและเสวยที่ตรงบริเวณใต้เศียรพระนอนใหญ่ และที่เรียกกันว่า ท่าหลวง นั้นเกิดขึ้นใหม่ เพราะพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จมานมัสการรอยพระพุทธบาท ๒ ครั้ง ขึ้นที่ท่างามทั้ง ๒ ครั้ง ตามพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๕ ในจดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ ๒ วัดท่างามดังกล่าวนั้นหมายถึง “วัดสะตือ” ในปัจจุบัน และ ที่วัดนี้มีโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินของวัด วัดสะตือได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เขต เจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เท่าที่ค้นคว้าได้ มีจำนวน ๘ รูป รูปที่ ๘ พระครูปริยัตยาธิคุณ เจ้าคณะอำเภอท่าเรือ พ.ศ. ๒๕๔๘ – ปัจจุบัน
ที่มา/ข้อมูล http://www.thailandtemples.org
เผด็จ เกษียรจังหรีด สำนักข่าว vihok news รายงาน