ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระบุในวันพุธ (23 มี.ค.) ว่ารัสเซียจะรับชำระเฉพาะสกุลเงินรูเบิลเท่านั้น สำหรับการส่งมอบก๊าซธรรมชาติไปยังบรรดาชาติทั้งหลายที่ถูกขึ้นบัญชี “ประเทศไม่เป็นมิตร” ซึ่งในนั้นรวมถึงสมาชิกทั้งหมดของอียู หลังจากมอสโกถูกมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ต่อกรณีรุกรานยูเครน
ทันทีหลังคำแถลงของปูติน สกุลเงินรูเบิล ซึ่งดำดิ่งอย่างหนักมาตั้งแต่ความขัดแย้งยูเครนเริ่มต้นขึ้น ได้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโร ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติก็ดีดตัวสูงขึ้นเช่นกัน
“ผมตัดสินใจบังคับใช้มาตรการชุดหนึ่ง ให้บรรดาประเทศไม่เป็นมิตรโอนชำระเงินค่าอุปทานก๊าซธรรมชาติของเราเป็นเงินสกุลรูเบิลรัสเซีย” ปูตินกล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่ารัสเซียจะยังคงขายก๊าซธรรมชาติในปริมาณตามสัญญาที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงแค่สกุลเงินที่ใช้ในการชำระเงินเท่านั้น
ปูติน ยังสั่งการให้ธนาคารกลางของรัสเซีย ให้รีบดำเนินการในการเปลี่ยนแปลงการชำระเงินให้เป็นสกุลเงินรูเบิลให้เร็วที่สุด และให้เวลา 1 สัปดาห์ในการดำเนินการนำระบบชำระเงินแบบใหม่มาใช้ โดยเขาบอกว่ามันจะต้อง “โปร่งใส” และจะเกี่ยวข้องกับการซื้อด้วยเงินสกุลรูเบิล ในตลาดภายในของรัสเซีย
นอกจากนี้ ปูติน แย้มด้วยว่าการส่งออกอื่นๆ ของรัสเซียอาจอยู่ภายใต้มาตรการดังกล่าวเช่นกัน
ต่อมาในวันเดียวกัน รอสคอสมอส หน่วยงานอวกาศของรัสเซีย แถลงว่าจะยืนกรานให้พันธมิตรระหว่างประเทศของพวกเขาชำระเงินด้วยสกุลเงินรูเบิลด้วยเช่นกัน
“มันชัดเจนว่าการส่งมอบสินค้าของเราไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แล้วรับชำระหนี้เป็นดอลลาร์ ยูโร หรือสกุลเงินอื่นๆ ไม่มีความสมเหตุสมผลสำหรับเราอีกต่อไป” ปูติน กล่าว
ยูเครนรุดประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัสเซียในทันที โดยเรียกมันว่าเป็น “สงครามเศรษฐกิจของรัสเซีย” กับอียู และความพยายามทำให้รูเบิลแข็งค่าขึ้นของรัสเซีย
“แต่ตะวันตกอาจเล่นงานรัสเซียด้วยการแบนนำเข้าน้ำมัน ที่อาจทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียดำดิ่ง” อันดรีย์ เยอร์มัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครนกล่าว “ตอนนี้คือการต่อสู้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และตะวันตกต้องร่วมมือกันเพื่อเอาชนะ”
โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งประเทศของเขานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 55% ก่อนเกิดความขัดแย้ง ระบุว่าความประสงค์ของปูติน ถือว่าละเมิดสัญญาและเบอร์ลินจะปรึกษาหารือกับพันธมิตรยุโรป ว่าจะมีปฏิกิริยาตอบนองต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร
บรรดาประเทศตะวันตกพยายามถาโถมแรงกดดัน กำหนดมาตรการคว่ำบาตรฉีกเศรษฐกิจของรัสเซีย นับตั้งแต่มอสโกเคลื่อนทหารรุกรานยูเครน พวกเขาอายัดเงินสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในต่างแดน ราว 300,000 ดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวที่ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ให้คำจำกัดความในวันพุธ (23 มี.ค.) ว่าเป็นการขโมย
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สหรัฐฯ แบนนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย แต่อียู ซึ่งต้องพึ่งพิงอุปทานก๊าซจากรัสเซียราวๆ 40% ในปี 2021 ยังคงรับมอบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากมอสโก
กระนั้นก็ตามอียูกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะลดนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียราว 2 ใน 3 ในช่วงสิ้นปี และกำลังมองถึงความเป็นไปได้ในการแบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย
“เวลานี้ รัสเซียกำลังพยายามกดดันตะวันตกด้วยมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้ และลดการพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศ” ไอเพค ออซคาร์เดสกายา นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบัน Swissquote กล่าวกับเอเอฟพี
รัสเซียเคลื่อนไหวลดพึ่งพาเงินดอลลาร์ในเศรษฐกิจของพวกเขามานานหลายปีแล้ว นับตั้งแต่ถูกตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อกรณีผนวกไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014
ในเดือนมีนาคม 2019 ก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย แถลงว่าพวกเขาทำการขายก๊าซในรูปแบบของสกุลเงินรูเบิลเป็นครั้งแรกให้แก่บริษัทยุโรปตะวันตกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ
อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียระบุในวันพุธ (23 มี.ค.) ว่าการเปลี่ยนมาค้าขายด้วยสกุลเงินประจำชาติจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น พร้อมเตือนว่าการแบนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบใดๆ จะนำมาซึ่งการล่มสลายของตลาดพลังงานโลกและราคาน้ำมันพุ่งสูงอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้
อย่างไรก็ตาม ทิโมที แอช จากสถาบันบลูเบย์ แอสเซท แมนเนจเมนต์ ระบุว่าเป็นเรื่องที่ยากที่มองความเคลื่อนไหวของปูติน ในฐานะปัจจัยบวกต่อรูเบิล โดยเขาชื่อว่า ปูติน พยายามบีบให้เหล่าประเทศตะวันตกทำธุรกรรมกับธนาคารกลางรัสเซีย ซึ่งพวกเขาคว่ำบาตร แต่ขณะเดียวกัน “มันจะยิ่งเร่งให้หาทางกระจายความเสี่ยง บ่ายหนีจากพลังงานรัสเซีย”
จากข้อมูลของกลุ่มการลงทุน ล็อคโค อินเวสต์ พบว่า บรรดาชาติต่างๆ ที่รัสเซียประกาศให้เป็น “ประเทศไม่เป็นมิตร” คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ในแง่ของรายได้จากการส่งออกทางพลังงานของรัสเซีย
(ที่มา : เอเอฟพี)