รัสเซียจะปิดปฏิบัติการท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม ที่ป้อนสู่เยอรมนีเป็นเวลา 10 วัน เพื่อซ่อมบำรุง จากคำชี้แจงของบริษัทที่มีหน้าที่บริหารโครงการดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ (1 ก.ค.) อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่ากระแสก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะไม่หวนกลับมาอีกเลย
ท่อลำเลียงทั้ง 2 สายจะระงับปฏิบัติการเพื่อซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 11 กรฎาคม ถึง 21 กรกฎาคม และบริษัทที่มีหน้าที่บริหารโครงการระบุว่าการปิดท่อก๊าซดังกล่าวเป็นไปตามที่ตกลงกับคู่ค้าทั้งหมดก่อนหน้านี้
“นอร์ดสตรีม เอจี จะปิดปฏิบัติการชั่วคราวทั้ง 2 สายของระบบท่อลำเลียงก๊าซ เพื่องานซ่อมบำรุงตามรอบ ทดสอบอย่างครอบคลุมส่วนประกอบเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ เพื่อรับประกันว่าท่อลำเลียงจะสามารถปฏิบัติการได้อย่างน่าเชื่อถือ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” ถ้อยแถลงระบุ
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีมีความกังวลต่อกระบวนการดังกล่าว โดยเกรงว่ากระแสก๊าซธรรมชาติจะไม่ไหลกลับมาอีกเลย ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทม์สเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หนังสือพิมพ์ไฟแนเชียลไทม์สรายงานว่า ก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ลดจ่ายก๊าซลงราวๆ 60% สืบเนื่องจากปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับอะไหล่ ซ้ำเติมความกังวลว่าอาจมีการตัดอุปทานป้อนอียูโดยสิ้นเชิง ข่าวนี้ปรากฏออกมาในขณะที่บรรดาประเทศยุโรปตะวันตกทั้งหลายกำลังพยายามเติมเต็มคลังสำรองก๊าซก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาขาดแคลนอุปทานก๊าซผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีทอันเนื่องจากการซ่อมบำรุง จะมีการชดเชยโดยการจ่ายก๊าซเพิ่มเติมผ่านยูเครนหรือไม่ก็โปแลนด์ อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคอุตสาหกรรมให้สัมภาษณ์กับไฟแนเชียลไทม์ส แสดงความกังวลว่ารัสเซียอาจไม่ทำเช่นนั้นในเวลานี้ ส่งผลให้ทวีปยุโรปเสี่ยงเผชิญกับภาวะขาดแคลนก๊าซ
ในมาตรการตอบสนอง รัฐบาลเยอรมนีประกาศยกระดับแผนฉุกเฉินด้านก๊าซธรรมชาติสู่ขั้น 2 จากทั้งหมด 3 ขั้น โดยเตือนว่าพวกเขากำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง ท่ามกลางอุปทานจากรัสเซียที่ลดลงเรื่อยๆ
รัฐบาลเยอรมนีระบุว่าในขณะที่ก๊าซธรรมชาติในเวลานี้มีสำรองไว้ในระดับ 58% แม้ว่าจะมากกว่าเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เป้าหมายในการไปให้ถึง 90% ในเดือนธันวาคมนี้นั้นจะไม่สามารถทำได้หากไม่มีมาตรการอื่นๆ มาเสริม
โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี กล่าวในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ว่าสถานการณ์ในเวลานี้ร้ายแรงและฤดูหนาวกำลังมา นอกจากนี้ ยังระบุว่าการจัดหาก๊าซที่เกิดปัญหาขึ้นนั้นเป็นการโจมตีทางเศรษฐกิจกับเยอรมนีโดยวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย “เยอรมนีจะปกป้องตัวเองจากการกระทำดังกล่าว ประเทศเราจะต้องผ่านขวากหนามนี้ไปให้ได้” เขาระบุ
ก่อนหน้ายกระดับแผนฉุกเฉิน รัฐบาลเยอรมนี แถลงว่าได้ทำการตัดสินใจอันเจ็บปวดในการกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเผชิญกับวิกฤตพลังงานในฤดูหนาวที่กำลังมาถึง
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/ไฟแนเชียลไทม์ส)