เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ยูเครนจนตรอก ! หันด่านาโต้ป๊อด ไม่กล้าหักปูติน ทำ 4 เมืองโดนปิดล้อม

#ยูเครนจนตรอก ! หันด่านาโต้ป๊อด ไม่กล้าหักปูติน ทำ 4 เมืองโดนปิดล้อม

10 March 2022
447   0

 

วันนี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า สถานการณ์รัสเซียบุกยูเครนเข้าวันที่ 14 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนเปิดเผยสถานการณ์ล่าสุด ในระหว่างการกล่าวต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักรผ่านวีดิโอลิงค์ว่า ขณะนี้ทหารรัสเซียล้อมไว้ 4 เมือง คือ คาร์คิฟ ไมโคลายิฟ เชอร์นิฮิฟ และซูมี สถานการณ์ในพื้นที่ที่ดูเหมือนจะหนักที่สุดในเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้กับพรมแดนรัสเซีย ทหารยูเครนสามารถต้านทานทหารรัสเซีย ที่พยายามจะบุกเข้าเมืองเมื่อวันอังคาร
.
แต่การโจมตีคาร์คิฟล่าสุดก็สร้างความเสียหายต่ออาคารที่ตั้งสำนักงานความมั่นคงยูเครน และพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ตั้งอยู่ติดกัน รัสเซียตั้งเป้ายึดเมืองคาร์คิฟ ซึ่งมีประชากร 1.4 ล้านคน และชาวเมืองคาร์คิฟส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย ตั้งแต่วันแรกของการบุกยูเครนเมื่อ 14 วันก่อน ทำให้เมืองนี้ถูกรัสเซียระดมยิงถล่มทุกวัน อพาร์ทเมนท์เสียหายหลายหลัง ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ไม่มีการยืนยัน มากกว่า 140 คน
.
ขณะที่เมืองซูมี มีภาพถ่ายจากโดรนของยูเครน เป็นภาพซากรถทหารรัสเซียที่ถูกทำลายบนถนนใกล้เมืองซูมี เมืองนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน ถูกรัสเซียโจมตีทางอากาศล่าสุดเมื่อวันจันทร์ ชาวบ้านเสียชีวิต 21 คนรวมเด็ก 2 คน เช่นเดียวกับที่เมืองไมโคลายิฟ เป็นเมืองเอกในภาคใต้ของยูเครน 1 ใน 4 เมืองที่ผู้นำยูเครนระบุล่าสุดว่า ถูกรัสเซียล้อมไว้ ทางทำเนียบประธานาธิบดียูเครนยืนยันว่า ทหารรัสเซียพยายามโจมตีหลายครั้งแล้วเพื่อจะบุกยึดให้ได้ แต่ถูกทหารยูเครนต้านทานไว้ได้
.
นายโอเลฟซีย์ อเรสโตวิช ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน กล่าวในการสรุปสถานการณ์สู้รบทางโทรทัศน์ยูเครนว่า รัสเซียต้องใช้ทหารมากกว่านี้อีก 10 เท่า จึงจะยึดเมืองไมโคลายิฟได้ และเชื่อว่ารัสเซียกำลังรู้สึกสิ้นหวังในการชนะการต่อสู้ จากที่เคยอ้างว่าเมืองมารีอูปอล หรือกรุงเคียฟตกเป็นเป้าโจมตีได้โดยง่าย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถยึดได้ และว่ารัสเซียต้องการได้รับชัยชนะในพื้นที่บางส่วนของยูเครนก่อนถูกกดดันให้เข้าสู่การเจรจาขั้นสุดท้าย ดังนั้น ยูเครนจึงต้องต้านทานกองทัพรัสเซียให้ได้อีก 7-10 วัน เพื่อไม่ให้รัสเซียอ้างว่าชนะการสู้รบครั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่สหประชาชาติ หรือยูเอ็นเผยว่า มีผู้อพยพออกนอกยูเครนกว่า 2 ล้านคนแล้วส่วนพลเรือนยูเครนเสียชีวิตจากการสู้รบล่าสุดกว่า มีกว่า 400 คน
.
ด้านกระทรวงต่างประเทศโปแลนด์ ประกาศพร้อมส่งเครื่องบินรบ มิก-29 ที่ผลิตโดยรัสเซีย ทั้งหมดที่มีอยู่ ไปยังเยอรมนี เพื่อให้สหรัฐฯ ส่งต่อไปให้ยูเครน หลังยูเครนเรียกร้องขอเครื่องบินรบจากนาโต โปแลนด์ยังขอให้ประเทศสมาชิกนาโตอื่น ๆ ที่มีเครื่องบินรบแบบเดียวกันนี้อยู่ ให้ทำตามอย่างตนด้วย ถือเป็นการกลับลำของโปแลนด์ จากเมื่อวันอังคารที่แล้ว โปแลนด์ประกาศว่า จะไม่ส่งเครื่องบินเจ็ตไปให้ยูเครน เพราะโปแลนด์ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในสงครามยูเครน-รัสเซีย และเนื่องจากยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต
.
ส่วนการอพยพพลเรือนออกจากยูเครน วานนี้ ทางการรัสเซียระบุว่า ได้เปิดเส้นทางระเบียงมนุษยธรรม (humanitarian corridors) เพิ่มขึ้น เพื่อเปิดทางให้ชาวยูเครนเดินทางออกจากกรุงเคียฟ และอีก 4 เมืองใหญ่ของยูเครน โดยที่เมื่อวันอังคารรัสเซียได้เปิดระเบียงมนุษยธรรมที่เมืองซูมี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน จนทำให้สามารถอพยพชาวยูเครนจำนวนมากออกจากเมืองดังกล่าวได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่รัสเซียระบุว่าจะประกาศหยุดยิงชั่วคราว
.
ผู้ว่าการเมืองซูมีเผยว่า ทางการท้องถิ่นได้อพยพประชาชนราว 5,000 คนด้วยรถบัสเมื่อวันอังคาร หลังรัฐบาลรัสเซียและยูเครนได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการเปิดเส้นทางอพยพดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ราว 1,000 คันที่มุ่งหน้าสู่เมืองปอลตาวา ทางตอนกลางของยูเครน และในวันพุธก็จะยังคงมีการเปิดระเบียงมนุษยธรรมเพื่ออพยพประชาชนต่อไป
.
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสตี ของทางการรัสเซีย รายงานอ้างคำพูดโฆษกกระทรวงต่างประเทศของรัสเซียที่ยืนยันว่า นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย และนายดมิทโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน มีกำหนดเจรจาร่วมกันที่เมืองอันตัลยา ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกีในวันที่ 10 มีนาคม โดยมีนายเมฟเลิต ชาวูโชลู รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของตุรกี เป็นตัวกลางในการจัดการประชุมเปิดโต๊ะเจรจารูปแบบไตรภาคีที่ประกอบด้วยตุรกี รัสเซีย และยูเครน ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศนับตั้งแต่รัสเซียนำกำลังทหารบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์
.
สำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสตี ยังรายงานคำกล่าวของนายดมิทรี บิริเชฟสกี ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจสังกัดกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ที่บอกว่ารัสเซียกำลังดำเนินการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกด้วยการคว่ำบาตรกลับอย่างทันที และจะรับรู้ถึงความรู้สึกในด้านต่าง ๆ ที่มีความอ่อนไหวที่สุดของตะวันตก หลังเศรษฐกิจรัสเซียเผชิญวิกฤตร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2534 ภายหลังชาติตะวันตกรุมคว่ำบาตรรัสเซียทั้งด้านการเงิน และธุรกิจ เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียยกกองทัพบุกยูเครน เมื่อต้นสัปดาห์นี้
.
รัสเซียเคยเตือนว่าราคาน้ำมันจะพุ่งแตะเหนือระดับบาร์เรลละ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย เนื่องจากว่า ยุโรป บริโภคน้ำมันปีละประมาณ 500 ล้านตัน ขณะที่ รัสเซียส่งน้ำมันไปให้ยุโรป ราวร้อยละ 30 หรือ 150 ล้านตัน เช่นเดียวกับปิโตรเคมี 80 ล้านตัน
.
สื่อจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ระบุว่า ในช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวถึงความมุ่งมั่นของยูเครนในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่า “จะไม่เรียกร้องอีก” เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่านาโต “ไม่ประสงค์รับยูเครนเป็นสมาชิก” และเขาไม่ต้องการเป็นผู้นำประเทศที่ “คุกเข่าอ้อนวอนขออะไรจากใคร”
.
อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีประณามนาโต มีความหวาดกลัว และไม่กล้าเผชิญหน้า กับรัสเซีย จากการที่ นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ยืนกรานว่า สหภาพทางทหารแห่งนี้ไม่มีทางเป็นฝ่ายประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครน ด้วยเหตุผลว่า หากทำเช่นนั้นจะเป็นการนำตัวเองเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย
.
ขณะเดียวกัน ผู้นำยูเครนกล่าวด้วยว่า เขาพร้อมประนีประนอม ความต้องการของรัฐบาลมอสโก ในการยอมรับว่า คาบสมุทรไครเมียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย พร้อมยอมรับ “สาธารณรัฐโดเนตสก์” และ“สาธารณรัฐลูฮันสก์” ในภูมิภาคดอนบาส ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน “ในฐานะรัฐอิสระ”
.
อย่างไรก็ดี เซเลนสกียืนยันว่า “การประนีประนอม” หมายถึง “พร้อมเจรจา” และ “ต้องไม่ใช่การตั้งเงื่อนไขให้ยอมจำนน” พร้อมทั้งย้ำว่า เขาพร้อม “เจรจาโดยตรง” กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งยังคงไม่ตอบสนองที่จะให้เขาเข้าพบ
.
ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผู้นำยูเครนกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาสามัญของสหราชอาณาจักร ยืนยันว่า ทุกภาคส่วนในยูเครน “จะร่วมกันต่อสู้จนถึงที่สุด” เรียกร้องการยกระดับคว่ำบาตรรัสเซีย และกล่าวอีกครั้งเกี่ยวกับเขตห้ามบิน แม้รัฐบาลสหราชอาณาจักรปฏิเสธไปแล้วก็ตาม
.
ทั้งนี้ รัสเซียมองการขยายอิทธิพลของนาโตในยุโรปตะวันออก เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างร้ายแรง และประกาศชัดเจนมาตลอด ว่ายูเครน ต้องเป็นกลางทางทหาร แต่ท่าทีล่าสุดของผู้นำยูเครนยังไม่ชัดเจน ว่าจะส่งผลต่อการเจรจากับรัสเซียในครั้งต่อไปหรือไม่
.
โดยนายเดวิด อาราคาเมีย หนึ่งในสมาชิกคณะผู้แทนเจรจาสันติภาพของยูเครน กล่าวว่า มีการยื่นข้อเสนอ พร้อมเจรจาทั้งในระดับทวิภาคีกับรัสเซีย หรือพหุภาคีกับอีกหลายฝ่าย เกี่ยวกับ กรอบความร่วมมือนอกนาโต หมายถึง การมีหลักประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐ สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี