ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้กำลังเดินหน้าซื้อก๊าซธรรมชาติตามคำสั่ง โดยไม่เลือกว่าจะราคาสูงแค่ไหน โดยพวกเขาอาจจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณก๊าซในคลังสำรองในระดับ 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตรให้ทันก่อนฤดูกาลใช้เครื่องทำความร้อน ซึ่งปกติแล้วมักเริ่มในช่วงราวๆ กลางเดือนตุลาคม จากการเปิดเผยของ ยูรีย์ วิตเรนโก ซีอีโอของบริษัทเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ค.)
เขากล่าวว่า แผนในเบื้องต้นของ นาฟโตก๊าซ คือมีก๊าซในคลังสำรอง 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากนั้นค่อยกลับมาซื้อเพลิงอีกครั้งในไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เดนีส ชมีฮาล ยอมรับว่าเวลานี้ยูเครนมีก๊าซในคลังสำรองเพียง 11,300 ล้านลูกบาศก์เมตร และการกักตุนเพื่อช่วงฤดูหนาวจะเป็นเรื่องยากลำบากมากๆ
“เรากำลังพูดคุยกับว่าที่เจ้าหนี้ ในนั้นรวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีคำมั่นสัญญาจะมอบให้เราเต็มจำนวน” วิตเรนโกกล่าว “เมื่อพิจารณากับระยะเวลาที่มีอย่างจำกัด แหล่งเงินเดียวที่มีคืองบประมาณของรัฐ”
วิตเรนโก เผยด้วยว่า นาฟโตก๊าซมีแผนขายสินทรัพย์สภาพคล่องบางอย่าง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยอ้างเป็นเรื่องของความมั่นคง นอกจากนี้ เขายังปฏิเสธให้รายละเอียดว่า นาฟโตก๊าซนำเข้าก๊าซมามากน้อยแค่ไหนแล้ว โดยอ้างเหตุผลเดียวกัน
ทั้งนี้ วิตเรนโก เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ดูแล นาฟโตก๊าซเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่ปี 2014 ครั้งที่รัสเซียตัดอุปทานก๊าซที่ป้อนสู่ตลาดภายในประเทศของยูเครน และเวลานี้เขาก้าวขึ้นเป็นผู้นำบริษัท ในช่วงเวลาที่ทหารรัสเซียยกพลรุกรานยูเครน เล็งเป้าหมายเล่นงานเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ส่งผลกระทบต่ออุปทานก๊าซที่ป้อนแก่พลเรือน
“จนถึงตอนนี้ผมสามารถบอกได้ว่าพวกรัสเซียไม่ได้เล็งเป้าหมายเล่นงานระบบลำเลียงก๊าซโดยตั้งใจ พวกเขาจงใจทำเครื่องหมายเพื่อจะไม่ทิ้งระเบิดใส่มัน และไม่ก่อความเสียหายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลำเลียง” วิตเรนโกกล่าว “แต่ตอนที่พวกเขาปิดล้อมเมืองต่างๆ พวกเขาถาโถมแรงกดดันใส่พลเรือน ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนจนเหลือแต่ซาก”
วิตเรนโก ประมาณการว่า การบริโภคก๊าซของยูเครนน่าจะลดลงราว 30% ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจเสื่อมถอย และรัสเซียยึดครองพื้นที่บางส่วนของประเทศ ทำลายโรงถลุงเหล็กและโรงงานต่างๆ รวมถึงผลักให้ชาวบ้านมากกว่า 5 ล้านคนต้องหลบหนีไปยังต่างแดน
ยูเครนตัดสินใจจะงับปฏิบัติการของเส้นทางลำเลียงก๊าซโซครานิฟกา (Sokhranivka) ซึ่งขนส่งก๊าซธรรมชาติถึง 32.6 ล้านลูกบาศก์ต่อวัน หรือราว 1 ใน 3 ของก๊าซจากรัสเซียทั้งหมดที่ไหลผ่านยูเครนไปยุโรป มาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม โดยให้เหตุผลว่ามีการแทรกแซงจากกองกำลังผู้ยึดครอง พวกเขาเสนอเปลี่ยนเส้นทางของกระแสก๊าซที่ได้รับผลกระทบ แต่ทาง ก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียปฏิเสธ
(ที่มา : บลูมเบิร์ก)