วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงกรณี บช.น.มีแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย กับผู้กระทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก แล้วไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดจะถูกออกหมายจับ มีผลตั้งวันนที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา จนมีประชาชนหลายคนไม่เห็นด้วยและประณามแนวทางดังกล่าว รวมถึงยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง ว่า หลังบังคับใช้กฎหมาย บช.น.มีเรื่องอยากชี้แจง ดังนี้
1. มีประชาชนบางรายแสดงความคิดเห็นและแนะนำ เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการดังกล่าว บช.น.ขอขอบคุณและน้อมรับ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบในการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ และความปลอดภัยกับประชาชนในสังคมให้มากที่สุด
2. จากการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อแนะนำเกี่ยวกับข้อคิดเห็นดังกล่าว บช.น.เห็นว่า หลายคนอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงอาจส่งผลกระทบกับการวิเคราะห์ และพิจารณาแสดงข้อคิดเห็น ซึ่งอาจทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงได้
บช.น.จึงอยากให้ประชาชนรับทราบ ดังนี้
1. การดำเนินการเป็นไปตามหลักของกฎหมาย มีบางคนเข้าใจว่าเป็นนโยบายของหน่วยงานนั้น ยืนยันว่า การดำเนินการไม่ใช่นโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ บช.น.แต่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้แล้ว ที่ผ่านมา มีหลายพื้นที่ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว จนกระทั่งมีการออกหมายจับดำเนินคดีและส่งฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมไปแล้วจำนวนหลายราย เพียงแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง
2. วัตถุประสงค์ในการดำเนินการมีหลายคนเข้าใจว่า เป็นแนวทางที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน จึงเกิดคำถามว่า ทำไมตำรวจไม่เอาเวลาไปทำเรื่องอื่นนั้น แนวทางในการปฏิบัติครั้งนี้เป็นการมุ่งที่จะสร้างวินัยจราจรให้กับประชาชน และสิ่งที่ตามมาคือการลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถือเป็นการลดปัญหาจราจรอีกทางหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรปีละเกือบ 2 หมื่นคน ทรัพย์สินเสียหายปีละเกือบ 100 ล้านบาท และการขับขี่โดยไม่มีวินัยจราจร ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง โดยสาเหตุอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่มากถึงร้อยละ 80 การสูญเสียปีละ 2 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียที่เกิดจากการก่อเหตุอาชญากรรม พบว่าการเสียชีวิตจากเหตุอาชญากรรมปีละไม่ถึง 4 พันราย จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รีบทำโดยไม่ควรละเลย
3. ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นความผิดเล็กน้อย เป็นความผิดลหุโทษ ทำไมจะต้องออกหมายจับนั้น ผลที่เกิดจากการกระทำความผิดกลับสร้างความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ นั้นคือการเสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก การไม่ดำเนินการตามมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นจิตสำนึก ในการมีวินัยจราจรกลับเป็นการละเลยที่ทำให้เกิดผลเสีย ที่สร้างความสูญเสียกับประชาชนและสังคมโดยภาพรวม จึงอยากให้ประชาชนพิจารณาว่าการสูญเสียชีวิตของประชาชน กับอัตราโทษที่เล็กน้อยเรื่องไหนสำคัญกว่านั้น
4. เป็นการดำเนินการที่มุ่งหวังเงินรางวัลค่าปรับหรือไม่นั้น ในการดำเนินการ บช.น.มีการประชาสัมพันธ์ และประกาศให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง ว่า มีขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายอย่างไรบ้าง การประกาศให้ทราบอย่างทั่วถึง คือการแสดงความบริสุทธิ์ใจอย่างโปร่งใสในการดำเนินการ เพราะเมื่อได้ประกาศไปแล้วประชาชนมีจิตสำนึกมีวินัยจราจร ไม่กระทำความผิดก็ไม่มีการเสียค่าปรับแต่อย่างใด จึงไม่มีเงินรางวัลนำจับเกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของตำรวจที่เห็นว่า ความปลอดภัยของประชาชนนั้น สำคัญกว่าเงินรางวัลค่าปรับ นอกจากนี้ ในการดำเนินการมุ่งไปยังผู้กระทำความผิดซ้ำๆ แล้วข้อหาที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียขึ้นได้ ฉะนั้น จึงกระทบกับผู้ที่กระทำความผิดเป็นนิสัยและเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น
5. อุดมการณ์ในการดำเนินการนั้น ตำรวจกลั่นออกมาจากความรู้สึก ที่ทนเห็นความสูญเสียชีวิตของประชาชนบนท้องถนนไม่ได้ แนวทางในการดำเนินการที่มีการประกาศประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจปรับพฤติการณ์ในการขับขี่ ไม่ละเมิดกฎจราจรจนเกิดความสูญเสีย หลายคนอาจไม่เข้าใจและประณามการดำเนินการดังกล่าว ถึงแม้ประชาชนหลายคนไม่เข้าใจ ประณาม ด่าทอ แต่เพื่อแลกกับการรักษาชีวิตของประชาชน ให้เดินทางกลับไปพบครอบครัวในแต่ละวันอย่างปลอดภัย ตำรวจเองคิดว่ามันคุ้มค่าเพียงพอที่จะดำเนินการ หลายคนคงเคยได้ยินนิทาน “พ่อแม่รังแกฉัน” ที่ตามใจลูกจนเสียคน แต่ตำรวจไม่ยอมตามใจเพื่อให้ประชาชนต้องสูญเสียชีวิตอย่างแน่นอน แล้วเราจะดำรงค์อุดมการณ์นี้ไว้ เพราะตำรวจเห็นว่าชีวิตของประชาชน มีค่ามากกว่าความไม่เข้าใจของใครบางคน
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เรามุ่งหวังคือประชาชนได้รับทราบแล้วเปลี่ยนพฤติกรรม มีวินัยจราจรไม่ทำผิดกฎหมาย สิ่งที่ตามมาคืออุบัติเหตุและปัญหาการจราจรลดลง ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะต้องมีคนมาเสียค่าปรับมากๆ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินการในครั้งนี้ สำหรับใบสั่งเล่มที่ตำรวจพบการกระทำความผิดแล้วเขียนขึ้นมานั้น มีกรอบระยะเวลาไม่เกิน 55 วัน ส่วนใบสั่งจากกล้องส่งทางไปรษณีย์ไม่เกิน 99 วัน เป็นกระบวนการตั้งแต่การดำเนินการจนไปถึงศาลพิจารณาออกหมายจับ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลตำรวจไม่อาจก้าวล่วงได้