ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #รฟท.แจงยกเลิก!! ตั๋วรถไฟฟรีไม่จริง ?

#รฟท.แจงยกเลิก!! ตั๋วรถไฟฟรีไม่จริง ?

5 September 2017
674   0

            การรถไฟแห่งประเทศไทยยืนยันการยกเลิกตั๋วรถไฟฟรีไม่ได้เป็นการตัดสิทธิประโยชน์ของประชาชน แต่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริงและทั่วถึง

             5 ก.ย.60 นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ชี้แจงประเด็นการยกเลิกนโยบายรถไฟฟรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ จนนำไปสู่การวิพากวิจารณ์ในสังคมออนไลน์ว่าเป็นการตัดสิทธิประโยชน์ของประชาชน ว่า นโยบายดังกล่าวรัฐบาลได้เริ่มดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 และได้มีการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯ เป็นระยะๆ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 การดำเนินการดังกล่าวแม้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง แต่ก็เป็นการช่วยเหลือบุคคลที่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง 

             ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริงและทั่วถึงรัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียนรายได้น้อยและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วจำนวน 11.67 ล้านราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วน 1 นอกเหนือจากลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพจะเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้มีสิทธิ์สามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในวงเงินที่กำหนด แบ่งเป็น วงเงินค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. /รถไฟฟ้า รายละ 500 บาทต่อเดือน ชำระค่าโดยสาร ด้วยระบบตั๋วร่วม หรือ e-Ticket /โดยสาร บขส. รายละ 500 ต่อเดือน ใช้ในการซื้อบัตรโดยสารรถ บขส. ได้ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน และวงเงินค่าโดยสารรถไฟรายละ 500 บาทต่อเดือน ใช้ในการซื้อบัตรโดยสารรถไฟได้ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน โดยผู้มีสิทธิ์สามารถนำบัตรสวัสดิการมาใช้บริการรถเมล์ ขสมก. รถโดยสาร บขส. และรถไฟ ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
             อย่างไรก็ตามภายใต้วงเงินดังกล่าวหากประชาชนใช้ไม่หมดจะถูกตัดยอดทันทีไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป และเมื่อถึงรอบวันที่ 1 ของทุกเดือน วงเงินจะถูกปรับเป็นค่าเริ่มต้นของวงเงินแต่ละสวัสดิการเสมอ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริงและทั่วถึง และช่วยให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายงบประมาณและเป็นไปตามจริงของการใช้บัตร

ที่มา สยามรัฐ 
สำนักข่าววิหคนิวส์