8 ตุลาคม 2560 รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสข้อความระบุว่า รัฐบาลจะส่งเสริมหรือทำลายธุรกิจท่องเที่ยว
1. ในบรรดาอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับได้ว่าประสบความสำเร็จสูงสุด ข้อมูลของ Mastercard 2017 ได้จัดอันดับมหานครที่มี
นักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรกคือ 1) กรุงเทพฯ 20.2 ล้านคน 2) ลอนดอน 20 ล้านคน 3) ปารีส 16.1 ล้านคน 4) ดูไบ 16 ล้านคน และ 5) สิงคโปร์ 13.45 ล้านคน
ในปี 2559 รายได้เฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไทยอยู่ที่ 1.64 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2558 รายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.64
ภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยในปี 2559 5 อันดับแรกได้แก่
1) สถานพักแรมราว 580,000 ล้านบาท 2) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มราว 448,000 ล้านบาท 3) การขนส่งทางบก 136,000 ล้านบาท
4) การขนส่งทางอากาศ 122,000 ล้านบาท และ 5) ธุรกิจบริการกีฬา/นันทนาการ 100,000 ล้านบาท
ในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากที่สุดและมีการใช้จ่ายเงินต่อหัวสูงกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ
ข้อได้เปรียบของการท่องเที่ยวในไทยคือเรามีชายหาดที่สวยงาม มีป่าเขา มีสถานที่ทางประวัติศาสตร์
มีร้านอาหารริมถนนที่อร่อยและราคาถูกแถมหากินได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีถนนคนเดิน และมีคนไทยที่มีอัธยาศัยดี
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่มาจากความสามารถของธุรกิจเอกชนเป็นหลัก บทบาทของรัฐค่อนข้างน้อย
2. วิกฤตอุตสากรรมท่องเที่ยวไทยมาจากวาทกรรมของตำรวจท่องเที่ยวที่กล่าวอ้างเรื่อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” “คนจีนครอบครองธุรกิจท่องเที่ยวไทย”
และประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ฯลฯ ตำรวจท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลได้เข้ามาตรวจค้นบริษัทโอเอโดยกล่าวอ้างว่าเป็นบริษัทของคนจีน มีการขายสินค้าราคาแพง มีการกระทำที่เป็นอั้งยี่และมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน ตำรวจท่องเที่ยวได้ขอให้ ปปง. อายัดทรัพย์สินของบริษัทโอเอกว่าหมื่นล้านบาท รถทัวร์กว่า 1,000 คัน ถูกอายัดไว้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่กฎหมาย ปปง. ให้อำนาจเพียง 90 วัน สินค้าจำนวนหนึ่งถูกนำไปขายทอดตลาด เจ้าของธุรกิจที่เป็นสามี ภรรยา และลูกอีกสองคนถูกตำรวจจำคุกอยู่ 4 – 5 เดือน ผลที่ติดตามมาคือนักท่องเที่ยวจีนหันไปเที่ยวญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง จีน-ญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี ทำให้นักท่องเที่ยวจีนส่วนหนึ่งกลับมาเที่ยวเมืองไทย
3. โชคดีที่ความยุติธรรมยังมีอยู่จริงในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องบริษัทโอเอ
เพราะไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทโอเอมีพฤติกรรมเป็นอั้งยี่ หรือการฟอกเงินตามที่ตำรวจท่องเที่ยวกล่าวหา
ภายหลังคำพิพากษาข้างต้น นโยบายและมาตรการของรัฐบาลต่อธุรกิจท่องเที่ยวคือ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ตำรวจอุทธรณ์เรื่องบริษัทโอเอต่อศาล
2) ตำรวจหาว่าบริษัทโอเอหลีกเลี่ยงภาษีจึงเข้าข่ายมูลฐานความผิดของกฎหมาย ปปง. 3) ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีกับ 29 บริษัท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบริษัทลูกของโอเอและบริษัทให้เช่ารถทัวร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากบริษัทโอเอ
4) รัฐบาลตอบแทนผลงานตำรวจท่องเที่ยวโดยได้ยกระดับขึ้นเป็นกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว
4. ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนายกสมาคมท่องเที่ยวและอดีตนายกสมาคมจิวเวลรี่นักธุรกิจด้านท่องเที่ยวพวกเขามองว่า
1) นโยบายการตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวของรัฐบาลอาจจะก่อปัญหาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวมากกว่าประโยชน์
เพราะต้นทุนด้านธุรกรรม (transaction cost) ในการทำธุรกิจที่ไม่มีใบเสร็จจะสูงขึ้น และพวกเขาอาจต้องผลักภาระไปให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแทน
2) นักธุรกิจรู้สึกสับสนกับการทำธุรกิจในอนาคตว่าควรวางตัวอย่างไร? การเป็นอั้งยี่เป็นอย่างไร? การฟอกเงินหมายความว่าอะไร?
พวกเขาเกรงว่าถึงแม้ว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลแล้ว แต่ถ้าหากตำรวจและ ปปง. สามารถอายัดทรัพย์สินของพวกเขาต่อไปได้ เขาจะเสี่ยงลงทุนทำธุรกิจต่อไปเพื่ออะไร?
3) พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลควรทบทวนนโยบายด้านการท่องเที่ยวใหม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทโอเอคือบริษัทแรกสุดของคนไทยที่ไปดึงนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล
ถ้าคนดีถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขาจะต้องทำธุรกิจบนความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้จากนโยบายของรัฐบาลและตำรวจท่องเที่ยว และ
4) นักธุรกิจท่องเที่ยวมองว่ารัฐบาลอยากได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่กลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางส่วนตระเวณเก็บส่วยจากนักธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ทั่วไป
5. เพื่อหาทางควบคุมรัฐบาล นักการเมือง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐมิให้ใช้กฎหมายฟอกเงินรังแกบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล และใช้กฎหมายฉบับนี้ไปกดขี่ข่มเหงธุรกิจที่แข่งขันกับธุรกิจที่เป็นพวกพ้องของรัฐบาลและนักการเมืองที่ทรงอิทธิพล ควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สำนักงาน ปปง. ไปสังกัดที่กระทรวงการคลัง ข้าราชการที่สังกัดหน่วยงานนี้ควรใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชีให้มากขึ้น เพื่อทำหน้าที่ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเงินที่ผิดกฎหมาย หากพบแล้วให้ ปปง. ส่งข้อมูลเบื้องต้นให้หน่วยงานดีเอสไอทำหน้าที่สอบสวน เมื่อมีหลักฐานเพียงพอให้ดีเอสไอส่งให้สำนักงานอัยการพิจารณาเพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป (ยกเว้นกรณีที่เป็นการฟอกเงินของกลุ่มผู้ก่อการร้าย และยาเสพติดอาจอายัดไว้ก่อนเพื่อรอการพิสูจน์) เมื่อศาลได้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำเรื่องการฟอกเงินจริง จึงให้ ปปง. อายัดทรัพย์ เพื่อให้จำเลยต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป
เนื่องจากกฎหมาย ปปง. มีความร้ายแรงมาก ดังนั้น กระบวนการตรวจสอบจึงต้องอยู่ในมือรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดรับชอบ และไม่มีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ทุจริตเพื่อตัวเองและพวกพ้อง
สำนักข่าววิหคนิวส์