รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณะบดีวิทยาลัยสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตได้โพสข้อความระบุว่า วันนี้เดินทางจากพุทธคยาไปกุสินารา ออกเดินทาง 6:00 น.คาดว่าจะถึงราว 18:00 น. ระหว่างทางได้ผ่านวัดกุฏิป่าวนาราม ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกที่เกิดภิกษุณีขึ้น พระนางปชาบดีโคตรมี( น้าผู้เลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะ) ได้นำภรรยาของเหล่าข้าราชบริภารจำนวน 500 คน( ที่สามีออกบวชหมดแล้ว) มาขอบวช วัด แห่งนี้ได้เสื่อมโทรมลงจนถึงยุคของพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างสถูปโดยมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ภายใน ณ สถานที่แห่งนี้มีเสาหัวสิงโตของพระเจ้าอโศกที่สมบูรณ์ที่สุดเหลืออยู่เพียงแห่งเดียว สถูปแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองไวสาลีที่พระพุทธเจ้าทรงปลงสังขาร( กำหนดวันที่จะปรินิพพาน) หลังจากนั้นท่านจึงทรงเสด็จต่อมาจนถึงเมืองกุสินารา
ประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธแยกไม่ออกจากบทบาทของพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งแคว้นมคธที่เป็นแค้วนใหญ่ของอินเดียในยุคนั้นที่ทรงสนับสนุนศาสนาพุทธอย่างเต็มที่จนศาสนาพุทธตั้งหลักปักฐานได้และแผ่กระจายออกไปทั่วอินเดีย พระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงอำนาจที่เกิดหลังพระพุทธเจ้าราว 200 ปีเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ทรงสร้างสถูปและเสาอโศกเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วนเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าปูชนียสถานของศาสนาพุทธอยู่ทึใดบ้าง
อีกท่านหนึ่งซึ่งไม่ใช่ท่านสุดท้ายคือพระถังซัมจั๋งที่มาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาถึง 19 ปีและท่านได้เขียนบันทึกเรื่องราวโดยละเอียดถึงตัวบุคคลและเรื่องราวต่างๆไว้ หากปราศจากท่านเราจะไม่มีวันรับรู้ประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาได้ เพราะประเพณีของชาวอินเดียในการบันทึกเรื่องราวต่างๆนั้นใช้การ จำ และบอกต่อๆกันมา แตกต่างจากอินเดีย ประเพณีชาวจีนใช้การ จด คือเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ
ฉะนั้นขึ้นมีความแม่นยำและคลาดเคลื่อนน้อยกว่าการใช้ความจำ ทุกวันนี้ได้มีการตรวจสอบเรื่องราวต่างๆที่ถูกบันทึกไว้เอามาเทียบเคียงกับสถานที่จริงได้พบว่าน่าเชื่อถือได้เมื่อคิดจากระยะทางในปัจจุบัน วันปีใหม่ปีนี้จึงเป็นปีที่น่ายินดีที่ผมได้พาครอบครัวมานมัสการเพื่อรำลึกถึงความดีที่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาที่ทรงแสดงให้เราทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ในโลกมนุษย์นี้ การเดินทางมาแสวงบุญครั้งนี้ขอแบ่งปันแก่ท่านทั้งหลายด้วยครับ
สำนักข่าววิหคนิวส์