17 ก.พ. 2564 – ที่สำนักงานอัยการสูงสุด น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำกลุ่มราษฎร กับพวก เดินทางมาตามนัดที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม นัดส่งสำนวนให้อัยการคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่มีการแจ้งข้อหา ป.อาญา ม.112 และข้อหาอื่น หลังก่อนหน้านี้มี 4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ที่ถูกสั่งฟ้องและไม่ได้รับการประกันตัวต้องเข้าเรือนจำไปแล้ว โดยบรรยากาศวันนี้มีผู้ชุมนุมและคนใกล้ชิดผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจด้วย ขณะที่ตำรวจได้วางกำลังรักษาความปลอดภัยโดยรอบสำนักงานอัยการสูงสุด
น.ส.ปนัสยา เปิดเผยว่า คงมีโอกาส 80%ที่จะไม่ได้รับการประกันตัว ถ้ามองจาก 4 คนที่เข้าไปก่อนหน้านี้ เป็นคดีเดียวกันและมาตราเดียวกัน แต่เราก็หวังอีก 20% ที่กระบวนการยุติธรรมจะอยู่บนหลักการความเป็นธรรม โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ตนยื่นจดหมายถึงกระบวนการยุติธรรม ให้อนุมานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาล การบอกว่าเกรงจะกระทำผิดซ้ำเหมือนศาลพิพากษาล่วงหน้าแล้ว เรามีสิทธิต้องได้ประกันตัว คดีที่จำเลยถูกข้อหาฆ่าคนตายยังได้ประกันตัว
ด้านนายภาณุพงศ์ เปิดเผยถึงความรู้สึกหากต้องเข้าเรือนจำว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตัดผมรอแล้ว ถ้าใส่ชุดที่ออกจากคุกวันนั้นได้คงใส่มา แต่เคารพต่อศาล และไม่ฝากอะไรต่อผู้ชุมนุม เราต้องได้ออกไปอยู่แล้ว หรือถ้าไม่ได้ออกไป มวลชนรู้อยู่แล้วว่าต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร แม่ของตนอาจขมขื่นใจในการพิจารณาวันนี้ แต่แม่บอกว่าภูมิใจที่ลูกยังอยู่ในสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมที่ควรจะเป็น ไม่มีปัญหา ทุกคนโอเค เป็นกำลังใจที่ดีต่อกัน
ขณะที่ น.ส.ปนัสยา กล่าวเสริมว่า เชื่ออย่างไรก็ได้ออกมา การเคลื่อนไหวของเรายังไม่ถึงจุดจบ ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ทุกคนยังเรียกร้องออกมาอยู่ เพราะข้อเรียกร้องของเรายังไม่สำเร็จ
ผู้สื่อข่าวถามถึงจำนวนผู้ชุมนุมที่น้อยลงอาจมีผลต่อแรงกดดัน นายภาณุพงศ์ กล่าวว่า เราชุมนุมไปเรื่อยๆ ปีก่อนเดือนมกราคมถึงมีนาคมก็ไม่ค่อยมีผู้ชุมนุมออกมา จนเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม คนจึงเริ่มออกมา ตอนนี้ยังมีเรื่องโควิด เราไม่กังวลเรื่องมวลชนน้อยลง ทุกคนออกมามีค่าใช้จ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บริหารเศรษฐกิจแบบนี้ คนหาเช้ากินค่ำต้องดูแลตัวเองก่อนออกมาชุมนุม แค่ทำมาหากินก็ไม่มีจะกินอยู่แล้ว มีนายกฯ ห่วยตอกย้ำซ้ำเติมประชาชน เมื่อถึงจุดนั้นเราจะได้เห็นกันว่าประชาชนไม่ได้หายไปไหน ทุกคนพร้อมสู้
เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวต่อไปหากไม่ได้ประกันตัว นายภาณุพงศ์ กล่าวว่า ตอนนี้ต่างจังหวัดหลายพื้นที่ติดต่อห้องพักเข้ามาแล้ว รอดูกันต่อไปว่าจะเบิ้มขนาดไหน ไม่ซีเรียสอะไร ทุกอย่างถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบเหมาะสมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ตอบโต้กระบวนการที่ไม่เป็นธรรม
ถามถึงความเป็นห่วงเรื่องเหตุรุนแรงจะซ้ำรอยวันที่ 13 ก.พ. 2564 หรือไม่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า เราได้มีการถอดบทเรียนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ปัญหามีอะไรบ้าง การชุมนุมครั้งต่อไปการดูแลความปลอดภัยจะรัดกุมขึ้น คิดว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกหรือน้อยมาก
ส่วนนายภาณุพงศ์ กล่าวว่า เราเข้าใจความโกรธของมวลชนทุกคน เรารู้ทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราอยากจะบอกว่าทุกคนคือพวกของเรา ทุกอย่างเกิดจากความโกรธที่เจ้าหน้าที่รัฐริเริ่มก่อน เรานั่งคุยกันต่อไปต้องมีทีมสันติวิธีในการควบคุมแนวข้างหน้า
ถามถึงสิ่งที่อยากบอกตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเหมือนกัน และกรณีชายหัวเกรียนใส่ชุดไปรเวทหลังแนวตำรวจ นายภาณุพงศ์ ระบุว่า เขาเรียนมาให้มีระเบียบวินัย รับใช้ประชาชน สอนกันด้วยว่าคนคืออะไร เห็นตราสัญลักษณ์หน่วยแพทย์ไม่ควรทำร้าย ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ควรปฏิบัติหน้าที่ละมุนละม่อม ไม่ใช่ทำร้ายร่างกาย หลายคลิปที่ออกมาคนไร้บ้านก็โดนทำร้าย คนไม่มีอาวุธโดนกระบองฟาด ตำรวจควรเป็นคนมากกว่านี้
ส่วนการชุมนุมวันที่ 20 ก.พ. 2564 จะเป็นที่สนามหลวงแห่งเดียวหรือไม่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ถ้าวันนี้เราไม่ได้ออกมาจะปล่อยให้เป็นเรื่องของทีมที่อยู่ต่อจะบอกอีกที
ทิ้งท้ายถามถึงจุดยืนของสถานทูตเป็นอย่างไรต่อ ม.112 ในปัจจุบัน และมีใครคิดจะลี้ภัยหรือไม่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ไม่ทราบชัดเจนสถานทูตแต่ละที่คิดอย่างไร เราจะเห็นตามข่าวเหมือนทุกคน ส่วนเรื่องลี้ภัยไม่ได้ยินว่ามีใครคิดจะลี้ภัย
ต่อมา ภายหลังพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการคดีอาญาพิจารณาแล้ว ทางพนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งคดีครั้งแรกในวันที่ 8 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเข้าใจผิดโดยทั่วกันไปว่าอัยการนัดส่งฟ้องคดีต่อศาล ทั้งที่ความจริงเป็นการนัดส่งสำนวนเท่านั้น
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ที่สำนักงานอัยการฯ ถ.รัชดาฯ ผู้ต้องหามาเกือบครบทุกคน ยกเว้นนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยได้รับการประสานว่าอยู่ระหว่างเดินทาง ซึ่งพนักงานอัยการก็นัดฟังคำสั่งอีกวันที่ 8 มี.ค. 2564 ส่วนอีกคดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดกรุงเทพใต้ ทางพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ก็นัดส่งตัวราษฎร 13 คนให้อัยการ จากคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ด้วยมาตรา 112 และมาตรา 116 เช่นเดียวกัน ทราบว่าพนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 25 มี.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนัดฟังคำสั่งพนักงานอัยการเสร็จ ทางกลุ่มราษฎรที่อยู่ที่สำนักงานอัยการฯ ได้เดินไปยังศาลอาญาเพื่อยื่นคำร้องประกันตัว 4 จำเลย ที่ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้ ภายหลังจากที่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ รปภ.รักษาความปลอดภัย อนุญาตให้ทนายความ นักวิชาการ ส.ส.พรรคก้าวไกล และแกนนำกลุ่มราษฎร เข้ายื่นประกันตัว ส่วนผู้ชุมนุมให้รอด้านนอกศาล