จากกรณีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจะรวมตัวชุมนุมในวันที่ 7 ส.ค.ตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
1.กลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth นัดหมายเริ่มเวลา 13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปพระบรมหาราชวัง
2.กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนายธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม นัดหมายยังไม่ทราบเวลา ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จัดกิจกรรมในลักษณะ CarMob 2 ล้อ เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมว่า ในการดำเนินการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยมีบช.น. เป็นหลักและมีฝ่ายสนับสนุน ที่อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังจากตำรวจต่างจังหวัดเข้าค่อนข้างมาก
โดยตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 63 ที่ผ่านมา มีการชุมนุมในประเทศจนถึงปัจจุบัน 2,233 ครั้ง มีคดีที่เกี่ยวกับเฉพาะการชุมนุม 524 คดี กรณีดังกล่าวเป็นภาระที่บั่นทอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตำรวจไม่เคยบ่น เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำ และเป็นภาระของประเทศชาติในสภาวะที่บ้านเมืองยากลำบาก ประชาชนยากลำบากเรื่องของการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 อยากจะฝากว่าจะกระทำการอะไรอย่าได้ซ้ำเติมความเดือดร้อนความเสียหายสุดท้ายก็เกิดขึ้นกับประเทศชาติ สังคมโดยส่วนรวม ขอให้คิดให้ดี
“ที่ผ่านมาการชุมนุมมีการใช้อาวุธ บางครั้งหลังจากเลิกการชุมนุมแล้ว ยังมีกลุ่มคนจำนวนนึง แตกตัวเป็นกลุ่มย่อย กระจัดกระจายไปสร้างความเสียหายกับสถานที่ต่างๆ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ เผาทรัพย์สินบ้าง ลักษณะเหมือนคึกคะนอง เรื่องดังกล่าวตำรวจจะพยายามปรับยุทธวิธีจัดการให้ได้ โดยเฉพาะกรณีที่จะไปทำลายสมบัติของแผ่นดิน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้เกิดขึ้นเด็ดขาด ส่วนมาตรการดำเนินการนั้น เรามีแต่ไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของยุทธวิธี แต่ก็ปรับไปโดยเอาบทเรียนเก่ามาศึกษา รวมถึงการยั่วยุก็มีการสั่งกำชับการปฏิบัติอยู่แล้ว”
ส่วนของแกนนำที่มีคดีติดตัวนั้นมีการดำเนินคดี 500 กว่าเรื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีทุกเรื่อง คดีมีค้างอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในชั้นศาล ชั้นอัยการ และที่เกิดขึ้นใหม่ เจ้าหน้าที่พยายามดำเนินการให้เสร็จสิ้น
ส่วนกรณีแกนนำที่มีการออกมาชุมนุมมีคดีติดตัวจะดำเนินการจับกุมหรือไม่นั้น ผบ.ตร. กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องตัดสินใจกันหน้างาน
ฝั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ย้ำเตือนว่า การประกาศเชิญชวนให้มีการชุมนุมมั่วสุม โดยเฉพาะวันที่ 7 สิงหาคม ที่มีการประกาศนัดชุมนุมเบื้องต้น 2 กลุ่ม จะเข้าข่ายความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงฯ ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2564 มีเนื้อหาสำคัญที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสช้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร และห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย