เมืองแฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมนีเตรียมอพยพคน 65,000 คน ซึ่งรวมถึงคนไข้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเตรียมเก็บกู้ระเบิดของสหราชอาณาจักรจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งนับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลก
ระเบิดดังกล่าวถูกพบที่ตึกแห่งหนึ่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง โดยคนจะต้องอพยพไปที่อื่นก่อน 8.00 น. พรุ่งนี้ ตามเวลาท้องถิ่น โดยตำรวจระบุว่า ผู้ที่ขัดขืนจะถูกจับกุม
ในวันนี้ (2 ก.ย.) เพิ่งมีการอพยพคน 22,000 คนที่เมืองโคเบล็นซ์ ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกของแฟรงก์เฟิร์ต ประมาณ 110 กิโลเมตร เช่นกัน ซึ่งระเบิดที่นั่นถูกค้นพบระหว่างการเตรียมสร้างโรงเรียนอนุบาลแห่งใหม่
โดยเมื่อเดือนที่แล้ว เพิ่งมีการอพยพเด็กออกจากโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งเนื่องจากพบเจอระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเด็กอนุบาลเป็นคนหยิบมาจากบริเวณรกทึบใกล้ ๆ โรงเรียน
สมาชิกสภาเมืองแฟรงก์เฟิร์ตบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ได้อพยพคนไข้กว่าร้อยคนออกจากโรงพยาบาลในวันนี้ ซึ่งรวมถึงเด็กเล็กและผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน กระบวนการอพยพยังรวมถึงบ้านพักคนชรากว่า 20 แห่ง โรงละครการแสดงอุปรากร และธนาคารกลางของเยอรมนีซึ่งเป็นที่เก็บทองกว่าครึ่งหนึ่งของคลังประเทศ
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและตำรวจในเมืองเตือนว่า ถ้าระเบิด เอชซี 4000 ระเบิดโดยไม่ผ่านกระบวนการควบคุมจะมีอานุภาพทำให้ถนนทั้งสายราบเรียบลงไปได้ เฮลิคอปเตอร์ของตำรวจจะใช้เครื่องตรวจจับความร้อนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครหลงเหลืออยู่ในบริเวณ ตำรวจยังระบุด้วยว่าพวกเขาจะคอยเฝ้าที่อยู่อาศัยในบริเวณไว้เพื่อป้องกันขโมย ทางแฟรงก์เฟิร์ตได้เปิดศูนย์พักพิงสำหรับผู้อพยพ และพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็เปิดให้เข้าชมฟรีด้วย
เยอรมนีมีระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเยอะแค่ไหน?
โดยเฉลี่ยแล้ว มีการค้นพบวัตถุระเบิดประมาณ 2,000 ตันต่อปีในเยอรมนี มีการประมาณการว่า มีระเบิดที่ทิ้งลงในเยอรมนีโดยฝ่ายสัมพันธมิตรถึง 2.7 ล้านตัน (เทียบกับระเบิดเยอรมนีที่ทิ้งลงสหราชอาณาจักรประมาณ 74,000 ตัน) โดยระเบิดหลายลูกมีกลไกในการชะลอเวลาการจุดชนวนที่ขัดข้อง ซึ่งส่งผลให้ระเบิดหลายลูกไม่ทำงาน
ระเบิดเหล่านี้อันตรายแค่ไหน?
ในช่วงระยะเวลาหลายทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ระเบิดหลายสิบคน และประชาชนหลายร้อยคนที่เสียชีวิตจากระเบิดเหล่านี้ แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตน้อยลง โดยว่ากันว่า ตั้งแต่ปี 2000 มีเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ระเบิดเสียชีวิต 11 ราย แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าระเบิดที่ยังหลงเหลืออยู่อาจจะไม่เสถียรขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากตัวระเบิดเก่าขึ้นและชนวนระเบิดเก่าก็จะมีสภาพแตกง่ายขึ้นเรื่อย ๆระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พบที่อื่น ๆ ในเยอรมนี
– พ.ค. 2017 ทางการสั่งอพยพประชาชนราว 50,000 คน เพื่อปลดชนวนระเบิดของสหราชณาจักร 3 ลูกที่เมืองฮันโนเวอร์
– ธ.ค. 2016 ทางการสั่งอพยพประชาชนราว 50,000 คน หลังพบระเบิดหนักกว่า 1.8 ตันที่เมืองออกซบูร์ก
– พ.ค. 2015 ทางการสั่งอพยพประชาชนราว 20,000 คน หลังพบระเบิดหนัก 1 ตันในเมืองโคโลญจ์
– ม.ค. 2012 คนงานก่อสร้างรายหนึ่งเสียชีวิต หลังขุดไปโดนระเบิดสมัยสงครามโลกที่เมืองออยซ์เคียร์เชน
– ธ.ค. 2011 ทางการสั่งอพยพประชาชนกว่า 45,000 จากเมืองโคบเลนซ์ หลังพบระเบิด 2 ลูกในแม่น้ำไรน์ และต้องใช้เวลาเก็บกู้ระเบิดนานกว่า 3 ชั่วโมง
– มิ.ย. 2010 เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด 3 นายเสียชีวิตขณะพยายามกู้ระเบิดที่พบในอาคารแห่งหนึ่งของเมืองก็อตทิงเงน