เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ระวังครม.ติดคุก ! ดร.อานนท์ชี้คิดฟอกขาวไทยคม

#ระวังครม.ติดคุก ! ดร.อานนท์ชี้คิดฟอกขาวไทยคม

15 September 2021
457   0

 

มติครม. ล่าสุดอาจจะฟอกขาวให้ไทยคมไม่ผิด แต่ครม. ทั้งคณะอาจจะติดคุกแทน
.
ดาวเทียมหลายดวงของบริษัทไทยคมจำกัด (มหาชน) เป็นมหากาพย์การทุจริต โดยการแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของนักการเมืองคือนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
.
หนึ่ง การแก้กฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ถือหุ้น ซึ่งการให้ต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 40% ถือว่ากระทบกระเทือนความมั่นคงของรัฐ และเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญของสัญญา มีผลทำให้นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีถูกคำพิพากษาต้องโทษจำคุกมาแล้ว
.
สอง ดาวเทียมนอกสัมปทานคือไอพีสตาร์ 4 ที่มีปัญหามาก และไม่ทำตามสัญญาที่ทำไว้กับกระทรวงคมนาคมตั้งแต่ต้น การกระทำเช่นนี้ ทำให้มีคำพิพากษาศาลฎีกายึดทรัพย์ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรไปกว่าสี่หมื่นล้าน
.
สาม Exim Bank ได้อนุมัติเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้พม่ามาซื้อดาวเทียมของบริษัทไทยคมจำกัด (มหาชน) อันเป็นการกระทำที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนขัดกับ พรบ. ปปช. คดีนี้ศาลฎีกาได้ตัดสินลงมาแล้วเช่นกัน
.
สี่ มีการเปลี่ยนจากระบบสัมปทาน (Concession) ไปเป็นใบอนุญาต (License/certification) โดยเสียภาษีสรรพสามิตไม่มาก ไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน ทั้งยังมีการแก้กฎหมายภาษีสรรพสามิตให้เอื้อกับไทยคมอีกเช่นกัน คดีนี้ศาลฎีกาได้ตัดสินลงมาแล้วเช่นกัน
.
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 หรือประมาณปีก่อน พลตำรวจเอกวัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้มีการดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ให้เร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
แต่จดหมายฉบับนี้ก็ไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเสียที จนเพิ่งมาเข้าเมื่อวันอังคารที่ 7 กันยายน 2564 ซึ่งถือว่าล่าช้ามาก ครม. โดย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงว่า ครม. จะดำเนินการสามข้อคือ
.
1.กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ. ไทยคม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์) ในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อย 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ.ไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร การที่สัญญาหลักระบุให้บริษัทต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นไปเพื่อให้บริษัทคู่สัญญามีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของรัฐ
.
2.กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
.
3. ครม.เห็นชอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ผ่านมา ว่าเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขและผู้รับผิดชอบ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
.
เมื่อมติครม. ออกมาเช่นนี้ ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ขอคัดลอกบางส่วนของคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. ๑๔/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓ คำสั่งตามมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา วันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ มาดังนี้
กรณี ละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสาร
ภายในประเทศโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือทั้ง ๕ กรณี ดังกล่าว และปรากฏว่าในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ได้มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ที่ผู้ถูกกล่าวหา (นช. ทักษิณ ชินวัตร) และคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อผู้อื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนให้แก่ กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพนโฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม
.
๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และในระหว่างปี ๒๕๔๖ – ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นจำนวนเงิน ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท อันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ขอให้พิพากษายึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก และเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าวรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท พร้อมดอกผล ให้ตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการร่ำรวยผิดปกติ และมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และขอให้มีคำสั่งยึดอายัดเงินและทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาพร้อมดอกผลไว้ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
.
สำหรับกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ 4 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ดังนี้
.
ในปัญหาว่า การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุน กิจการดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทไทยคมและชินคอร์ปหรือไม่ บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมเป็นผู้ได้รับสัมปทานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ จากกระทรวงคมนาคมมีกำหนด ๓๐ ปี บริษัทตกลงจัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดวงที่หนึ่งขึ้นสู่วงโคจร (Orbital Position) พร้อมกับจัดให้มีระบบดาวเทียมสำรอง (Back up) ในลักษณะดาวเทียมภาคพื้นดิน (Ground Back up) รวมทั้งจัดให้มีดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่สองและดวงต่อ ๆ ไปขึ้นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องกับการสิ้นอายุของดาวเทียมดวงก่อน การจัดส่งดาวเทียมสำรองตามขึ้นอยู่ในตำแหน่งวงโคจรหลังจากดาวเทียมดวงแรกเริ่มให้บริการแล้วไม่เกิน ๑๒ เดือน และยอมให้ดาวเทียมทุกดวงที่บริษัทจัดตั้งตามสัญญา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงในวันที่ผ่านการทดสอบใช้งานจากทั้งสองฝ่ายหลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว ปรากฏว่าวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๖ บริษัทได้จัดส่งดาวเทียมหลักคือดาวเทียมไทยคม ๑ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๗ ได้จัดส่งดาวเทียมสำรอง คือดาวเทียมไทยคม ๒ และวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๐ ได้จัดส่งดาวเทียมหลัก คือดาวเทียมไทยคม ๓ แล้วกระทรวงคมนาคมซึ่งดูแลโครงการดาวเทียมอยู่ในขณะนั้นได้อนุมัติให้มีการจัดสร้างดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ที่จะจัดส่งขึ้นสู่อวกาศต่อไป คือดาวเทียมไทยคม ๔
.
แต่เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องจัดส่งขึ้นสู่อวกาศนั้นบริษัทได้ขอเลื่อนกำหนดหลายครั้ง ซึ่งต่อมาบริษัทได้ขอแก้ข้อกำหนดทางด้านเทคนิค โดยขอเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเทียมสำรอง คือดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ แต่ดาวเทียมไอพีสตาร์มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม ๓ กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลขศึกษาข้อมูลทางเทคนิคของดาวเทียมไอพีสตาร์
.
กรมไปรษณีย์โทรเลขเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมดวงหลักดวงใหม่ซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมสำรองที่จะจัดสร้างแทนดาวเทียมไทยคม ๔ แต่อย่างใด ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทาน คือบริษัท ชินคอร์ปและบริษัทไทยคม ไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยไม่มีภาระที่จะต้องใช้เงินทุนหรือระดมทุน โดยการกู้ยืมเงินหรือเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นมูลค่าถึง ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในทางกลับกันภาครัฐก็ต้องเสียหายจากการที่ไม่ได้รับมอบทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทาน คือดาวเทียมไทยคม ๔ มูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เช่นกัน
.
นอกจากนี้การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นโครงการที่ให้บริการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก เพราะปรากฏจากคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ที่บริษัทได้ยื่นประกอบการยื่นคำร้องขอรับการส่งเสริมการลงทุน ต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนระบุถึงแหล่งหารายได้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งหวังทางการค้าและรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศ โดยได้มีการลงทุนสร้างอุปกรณ์เชื่อมต่อ (Gateway) ในประเทศต่าง ๆ๑๘ แห่ง รวมกว่า ๑๔ ประเทศ โดยสร้างไว้ในประเทศไทยเพียง ๑ แห่ง เท่านั้น ส่วนแผนการจำหน่ายระบุไว้ว่าการจำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ ๙๔ แต่จำหน่ายในประเทศเพียงอัตรา ร้อยละ ๖ จึงเห็นได้ว่า ส่วนที่จำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ ๙๔ ดังกล่าวนั้น มิใช่ส่วนที่เหลือใช้จากอัตราร้อยละ ๖ ที่ใช้ในประเทศตามข้อสัญญาสัมปทาน โดยส่วนที่ใช้ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่นั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากส่วนที่ใช้ในประเทศ
.
ดังนั้น ดาวเทียมไอพีสตาร์จึงเป็นดาวเทียมหลักที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก มิได้สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน และเป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบแห่งสัญญาที่ว่าจะใช้เพื่อเป็นดาวเทียมสำหรับสื่อสารภายในประเทศและหากเหลือใช้จึงจะให้ต่างประเทศใช้บริการได้ จึงต้องถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทาน และจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการกันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งในด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐมีมูลค่าโครงการเป็นเงินถึงจำนวน ๑๖,๕๔๓,๘๐๐,๐๐๐ บาทเป็นรายได้เข้ารัฐ การที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อนุมัติให้แก้ไขข้อกำหนดทางด้านเทคนิคของดาวเทียมสำรอง คือดาวเทียมไทยคม ๔ โดยอนุมัติให้เปลี่ยนคุณสมบัติเป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงหลักดวงใหม่ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง อนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม
.
ประเด็นที่น่าพิจารณาและพึงระวัง ซึ่งได้ทราบว่ามีรัฐมนตรีบางท่านได้ทักท้วงไว้ในการประชุมครม. เช่นกันว่า ต้องทำตามคำพิพากษาศาลฎีกาเสียก่อน หากไปดำเนินการอื่นใดที่ไม่ตรงกับคำพิพากษาศาลฎีกา จนอาจจะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ ก็จะกลายเป็นความผิดมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา
ผมขอวิเคราะห์และทักท้วงมติ ครม. ดังนี้
.
หนึ่ง การกำหนดให้ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ. ไทยคม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
มติ ครม. ในข้อนี้ควรต้องเป็นดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ช่วงระยะเวลาที่เกิดกรณีพิพาทและเกิดการกระทำความผิด ควรต้องย้อนกลับไปทำตามกฎหมายที่บังคับใช้ช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน และต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยว่า พระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ฉบับปี พ.ศ. 2535 และฉบับปี พ.ศ.2562 ฉบับใดเข้มงวดและรักษาผลประโยชน์ของรัฐมากกว่ากัน
.
สอง โครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
มติ ครม. ข้อนี้ขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างสิ้นเชิง เพราะศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ว่า ดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมดวงหลัก เป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทานและจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขัน โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการกันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งในด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
.
การที่ครม. มีมติว่าให้แก้ไขสัญญาให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ 4 เข้ามาเป็นดาวเทียมในสัญญาสัมปทานเลยจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
.
สิ่งที่ต้องทำคือให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการรวบรวมเรียกร้องค่าเสียหายจาก บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในกรณี บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่นำ ดาวเทียมไอพีสตาร์ ไปใช้หาประโยชน์ต่างประเทศร้อยละ 94 เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ก่อนจะดำเนินการใดๆ ก็ตาม
.
ขอให้ ครม. กลับไปอ่านสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ 17 กันยายน 2534 ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โดยมี ทักษิณ ชินวัตร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ข้อ 23 เรื่องผลประโยชน์ตอบแทนให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งเขียนไว้ว่า
บริษัทตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรายปีแก่กระทรวงเป็นร้อยละของรายรับรวมทั้งสิ้นในแต่ละปี (Annual Gross Revenue) จากค่าใช้วงจรดาวเทียมตามสัญญานี้รวมทั้งค่าใช้วงจรดาวเทียมโดยใช้ดาวเทียมอื่นตามข้อ 16 โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายวงจรดาวเทียมก่อนหักค่าใช้จ่าย หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตำ โดยเอาจำนวนผลประโยชน์ที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ต้องชำระ
.
การที่มติ ครม. ขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกา โดยที่มีมติ ให้ ดาวเทียมไอพีสตาร์ 4 เข้ามาเป็นดาวเทียมในสัมปทานนั้น มีประเด็นที่น่าวิตกหลายประการ
ประการแรก ควรต้องมีการไล่เบี้ย เรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นดาวเทียมนอกสัมปทาน การนำ transponder ไปใช้หารายได้ในต่างประเทศกว่าร้อยละ 94 ทั้งๆ ที่เป็นทรัพยากรของชาติและของประชาชนคนไทย ซึ่งควรได้ใช้ประโยชน์ก่อน ทั้งนี้เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ
.
ประการสอง การแก้ไขสัญญาให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ 4 เข้ามาเป็นดาวเทียมในสัมปทาน โดยไม่ได้เปิดประมูลใหม่ให้ถูกต้อง และให้เป็นไปตาม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่รัฐสูงสุด ขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกา และเมื่อรวมกับข้อหนึ่งต้องไล่เบี้ยความผิดให้ดีให้ครบถ้วน
.
ประการสาม การแก้ไขสัญญาให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ 4 เข้ามาเป็นดาวเทียมในสัมปทาน ตามมติ ครม. ล่าสุด หากไปพิจารณาสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ 17 กันยายน 2534 ข้อ 23 แล้ว หาก บมจ. ไทยคม ได้จ่ายผลตอบแทนตามข้อ 23 แล้ว จะเป็นเหตุให้ไล่เบี้ยค่าเสียหายอื่นๆ ในประการแรก ไม่ได้หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น คณะรัฐมนตรี จะรับผิดชอบไหวหรือไม่?
.
ผมเชื่อว่ามติ ครม. เกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม เมื่อสัปดาห์ก่อน น่าจะเกิดจากความสุจริตใจ แต่มีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณากันให้รอบคอบที่สุด หากมติ ครม. พลาด เกิดการเสียโง่จะกลายเป็นการฟอกขาวให้ไทยคมไม่ผิด และครม. ทั้งคณะอาจจะพลาดผิดไปติดคุกเองได้ จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดระมัดระวังอย่างยิ่ง ด้วยความปรารถนาดียิ่ง
.
ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
คณาจารย์สถาบันทิศทางไทย