ข่าวประจำวัน » ระวังรัฐประหาร !! ส.ว.เดือด เลือกไม่โปร่งใส สนช.มาแน่ แถมมีมติตั้ง กมธ.สอบกกต.

ระวังรัฐประหาร !! ส.ว.เดือด เลือกไม่โปร่งใส สนช.มาแน่ แถมมีมติตั้ง กมธ.สอบกกต.

8 July 2024
13   0

เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือก ส.ว. โดย นายสมชายกล่าวตอนหนึ่งระหว่างเสนอญัตติว่า วุฒิสภาชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีวุฒิสภา ชุดที่ 13 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบการเลือก ส.ว.และประกาศรับรอง ส่วนวุฒิสภาชุดนี้ก็ทำงานไปจนกว่าจะครบวาระ

อย่างไรก็ตาม เรายังมีการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ พฤติกรรมและจริยธรรมทั้งอัยการสูงสุดและประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคาดหมายว่า ถ้าสัปดาห์หน้าวุฒิสภาชุดนี้ทำอยู่ ก็จะได้ให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งคิดว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง

“ยืนยันด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีว่า ไม่มีเจตนา หรือประสงค์ที่จะยื้อหรืออยู่ต่อ เหมือนที่กล่าวหาให้ร้ายในสังคม เพียงแต่ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญทุกมาตรา ยกเว้นมาตรา 272 เลือกนายกฯ ทำหน้าที่สมศักดิ์ศรีเพื่อส่งต่อให้วุฒิสภาชุดใหม่” นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวอีกว่า พวกเราทุกคนเก็บของนานแล้ว คืนพัสดุ คืนกุญแจเรียบร้อย แต่ยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไปเหมือนที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว. ยกตัวอย่างไว้ว่า เราเป็นเหมือนหมอฉุกเฉิน ตราบใดที่ยังไม่มีแพทย์มาแทนต้องรักษาคนไข้ เมื่อแพทย์ชุดใหม่เข้ามาพวกเราก็ให้เขามาทำหน้าที่ได้ทันที

นายสมชายกล่าวด้วยว่า การให้ กกต.รับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังตนเห็นว่ากระทำไม่ได้ เพราะตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก ส.ว. มาตรา 42 เมื่อ กกต.ได้รับรายงานเลือกกันเองแล้ว ให้รอ 5 วัน เมื่อพ้นกำหนด หาก กกต. 7 คนเห็นว่าเลือกถูกต้อง สุจริต เที่ยงธรรม ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือก ส.ว.ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้รับรองก่อนแล้วค่อยสอยทีหลัง ฉะนั้น กกต.มีหน้าที่ตรวจสอบสุจริตเที่ยงธรรม หากเห็นเป็นดังนั้นก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

จากนั้นเปิดให้ ส.ว.ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นในทิศทางสนับสนุนญัตติดังกล่าว ทั้งนี้ มีการอภิปรายที่น่าสนใจคือการสนับสนุนให้ตรวจสอบข้อร้องเรียนของผู้สมัคร ส.ว.

โดย นายออน กาจกระโทก ส.ว. อภิปรายสนับสนุนว่า ตนมีเรื่องร้องเรียนของผู้สมัคร ส.ว.ที่เอ่ยชื่อได้เพราะเขาพร้อมเป็นพยานคือ นายสงบ จินะแปง บอกว่าในการเลือกวันที่ 26 มิ.ย. เวลา 05.00 น. มีรถบัสและรถตู้มาส่งบุคคลที่จะเลือกระดับประเทศที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฮั้ว เอาเปรียบบุคคลอื่น รวมถึงมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ กกต.และผู้สมัครที่สนทนากับผู้สมัครคนอื่นในวันเลือกระดับประเทศ พร้อมกับเสนอเงินให้ 50,000 บาท เพื่อให้เลือกตนเอง ซึ่งตนพร้อมนำรายละเอียดมอบให้กับกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นให้ตรวจสอบ

ด้าน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นอภิปรายว่า ตนขอขอบคุณประธานที่กล้าหาญในการเปิดประชุม ดังนั้นเป็นหน้าที่และอำนาจของพวกเรา ส.ว.ชุดเราที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ โดยเฉพาะ ส.ว.กิตติศักดิ์ ความรู้น้อย เป็นเด็กบ้านนอก เป็นผู้เฒ่า ตนอยากจะบอกว่าที่ ส.ว.ใหม่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ต้อง กกต.รับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ดังนั้นว่าที่ สว.ใหม่ที่มาตำหนิติเตียนกรุณา “หุบปากเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ใคร ผมไม่ก้าวก่าย”

ทำให้นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาพูดกัน แต่นายกิตติศักดิ์ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าตนไม่พูดไม่ได้ มันไม่ยุติธรรม ตนไม่ได้เอ่ยชื่อใคร คนที่ออกมาตำหนิ “กรุณาหุบปาก นั่งลงพับเพียบเรียบร้อยเสีย” เมื่อใดที่ กกต.ประกาศรับรอง เราเตรียมตัวกลับบ้าน ข้าวของในห้องเก็บเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ทุกคนมีศักดิ์ศรี ผมไม่ได้ว่าว่าที่ ส.ว. 200 คน เราให้เกียรติท่าน แต่ในวันนี้เราปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง ดังนั้น การที่จะถูกใครก็ตามที่จะตำหนิติเตียนพวกเรา ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพวกเราไม่ได้ยึดติด ไม่อยากที่จะอยู่โดยที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่

นายกิตติศักดิ์อภิปรายต่อว่า ตนคิดว่าหากเอากันตรงๆ กกต.กล้าๆ หน่อย อย่าปากกล้าขาสั่น ตนกลัวอย่างเดียวว่า กกต.ไม่รับรอง แล้วเราต้องปฏิบัติหน้าที่แบบนี้ต่อไป นี่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ หากเรายังรับเบี้ยเลี้ยงรับเงินเดือนอยู่ แล้วไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้ตนคิดว่าเอาเปรียบงบประมาณแผ่นดิน

“ในเมื่อเราปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ อภิปรายทุกนาที ทางสภาต้องจ่ายเงินให้ ส.ว.กิตติศักดิ์ ผมคิดว่าการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.ใหม่นั้นเรายินดี ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาจะเจริญรุ่งเรือง แต่หากเข้ามาแล้วปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา ผมบอกไว้เพียงอย่างเดียวว่า อาจจะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่” นายกิตติศักดิ์กล่าว

ขณะที่ฝ่าย ส.ว.ที่เห็นค้าน อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ในการทำงานขององค์กรอิสระต้องทำหน้าที่อิสระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่บอกว่า กกต.ต้องติดคุกนั้น หาก กกต.ทำผิด ทำทุจริต หน้าที่ต้องติดคุก แต่ขณะนี้ กกต.มีความอิสระ ดังนั้น ต้องยอมรับในความอิสระขององค์กรอิสระที่ ส.ว.เห็นชอบ

“เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ส.ว.ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามี ส.ว.ใหม่ การทำหน้าที่ระหว่างไม่มี ส.ว.ใหม่ต้องอยู่รอเพื่อทำหน้าที่เท่าที่จำเป็น ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ เพราะการเลือก ส.ว.กฎหมายเขียนชัดเจนให้คนที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ ห้ามเข้าไปยุ่ง มีคนถามว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เข้าไปทำเรื่องดังกล่าว ผมอธิบายไปว่าต้องระมัดระวังเพราะมีกฎหมายเป็นโทษทางอาญา ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. เข้าไปช่วยเหลือให้ผู้ใดได้รับเลือก หรือไม่ได้รับเลือก ใครฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ จำคุก รวมถึงเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นผมไม่อยากพ้นจาก ส.ว.แล้วมีคดีอาญาติดตัว” นายเสรีกล่าว

นายเสรีกล่าวต่อว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องที่ตรวจสอบการเลือก ส.ว.นั้น ส.ว.ที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันมีผลได้ผลเสีย ระหว่างการทำหน้าที่ของ ส.ว.ทาง กกต.ก็ทำหน้าที่ ส่วนคนร้องศาลเป็นสิทธิ เมื่อขอตั้ง กมธ.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่จริงหรือไม่ และการตรวจสอบนั้น ส.ว.มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ การตั้ง กมธ.ทั่วไปทำได้ แต่การตั้ง กมธ.ตามญัตติดังกล่าว รัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรคสี่ ไม่สามารถเรียกองค์กรอิสระมาแถลงข้อเท็จจริง หรือกิจการที่ทำอยู่ได้ และประเด็นการตรวจสอบตามคำร้องเป็นหน้าที่ของ กกต.​ไม่ใช่ ส.ว. เพราะตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก ส.ว. ให้อำนาจไว้ในมาตรา 62 มาตรา 63 ให้อำนาจ กกต.ประกาศรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังได้ ดังนั้นจะบังคับให้ กกต.เห็นด้วยกับท่านไม่ได้ เพราะมีการร้อง 600 เรื่อง มีพยานเยอะ แต่เป็นพยานปั้น พยานกลั่นแกล้ง ไม่อาจมีใครรู้ได้ จึงต้องตรวจสอบ ซึ่ง ส.ว.ที่ได้รับเรื่องร้องก็ต้องส่งให้ กกต. ไม่ใช่ทำตัวเป็น กกต.แล้วไปวินิจฉัยแทน

“ไม่เอากลุ่มสีน้ำเงิน จะเอากลุ่มสีส้มหรือ หรือสีแดง หากจะเอากลุ่มที่พอใจ ไม่มีทางจบได้ การเลือกไม่ว่าได้ผลเป็นอย่างไรต้องยอมรับ ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. เพราะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ” นายเสรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม นายพรเพชรได้คอยตักเตือนการอภิปราย ของ ส.ว.ที่พาดพิงถึงบุคคลภายนอก พร้อมขอให้ระมัดระวังการอภิปราย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับบุคคลที่ทำหน้าที่ นอกจากนั้นยังไม่อนุญาตให้ใช้สื่อเพื่อประกอบการอภิปรายของผู้เสนอญัตติด้วย

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว. อภิปรายว่า เมื่อดูผลการเลือก ส.ว.ใหม่ โดยเฉพาะรายชื่อและคุณสมบัติผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. 200 คน บวกกับรายชื่อสำรอง 100 คน ทำให้เห็นถึงความผิดเพี้ยนในความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยวิชาชีพ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเมื่อได้เห็นพยานบุคคล วัตถุพยาน พฤติกรรมต่างๆ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของ กกต.ที่หน้างาน ทำให้รู้สึกว่าผลการเลือกคราวนี้ คนจำนวนมากจะยอมรับได้ยาก ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่อนุบัญญัติ ซึ่งเป็นระเบียบและประกาศของ กกต.ที่มีการแก้ไขจากข้อเดิมบางอย่าง เช่น การให้คำจำกัดความของอาชีพต่างๆ และไปห้อยท้ายว่า และอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ถือเป็นการเปิดทางให้เกิดการตีความจนเป็นที่โกลาหลอย่างที่เห็นอยู่

“เมื่อปัญหามาถึงตรงนี้ ในขั้นตอนนี้ผมคิดว่ามีข้อเสนอแนะและอยากให้ กกต.ไปพิจารณาเป็น 3 แนวทาง แต่ผมขอเสนอแนวทางที่ 1 คืออาจจะให้ผลการเลือกตั้งโมฆะทั้งหมด แล้วจัดให้มีการเลือกใหม่ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด ระดับชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดรับผู้สมัครเพิ่ม ให้ใช้ผู้สมัครชุดเดิมแล้วตรวจสอบคุณสมบัติใหม่เพื่อคัดเลือกใหม่ ได้ผลประการใดก็เร่งประกาศรับรองโดยไม่ชักช้า แนวทางนี้อาจจะเป็นข้อเสนอสุดโต่งไปสักหน่อย เพราะต้องใช้งบประมาณอีก 1,500 ล้านบาท ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน แต่ถือเป็นการลงทุนในกระบวนการเรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาประชาธิปไตยสำหรับพลเมือง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และได้ ส.ว.ที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น” นพ.พลเดชกล่าว

หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยให้ตั้ง กมธ. 101 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ จำนวน 21 คน โดยกรอบการพิจารณา จำนวน 30 วัน