ข่าวประจำวัน » #ระวังเจอยึด

#ระวังเจอยึด

6 July 2019
1459   0

วันนี้ทนายเชียงใหม่มีเรื่องมาเล่าให้ท่านฟัง เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตที่บางครั้งเรามีความจำเป็นต้องใช้เงิน ซึ่งแน่นอนว่าสถาบันที่จะช่วยเหลือเราตรงนี้ได้นั้นก็คือธนาคาร การกู้ยืมเงินกับธนาคาร หากเป็นการกู้ยืมเงินจำนวนมากๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการเอาที่ดินที่เรามีไปจำนองไว้กับธนาคาร วันนี้ทางทีมทนายความเชียงใหม่ จะเล่าข้อมูลเกร็ดกฎหมายเกี่ยวกับการจำนองให้ทุกท่านได้รับรู้ครับ
จำนอง คือการที่ผู้จำนองเอาทรัพย์สินของตนมาเป็นประกันการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนองโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ซึ่งทรัพย์สินที่นำมาจำนองได้นั้นจะต้องจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินและต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่ที่มีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ดิน หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เรือยนต์ ที่มีระวาง 5 ตันขึ้นไป แพ เครื่องจักร สัตว์พาหนะ
เมื่อจดทะเบียนจำนองแล้วก็จะก่อเกิดสิทธิของผู้จำนองและผู้รับจำนองขึ้นดังนี้สิทธิของผู้จำนอง คือไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนองให้แก่ผู้รับจำนอง ดังนั้นแม้ว่าทรัพย์สินจะได้นำมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้แล้วผู้จำนองจึงยังคงเป็นเจ้าของอยู่ตามเดิมและยังคงครอบครองทำประโยชน์ในทรัพย์สินที่จำนองได้ต่อไป ส่วน สิทธิของผู้รับจำนอง คือ ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้ทั่วไปและสามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ ไม่ว่าทรัพย์สินที่จำนองจะโอนไปให้แก่ผู้ใด การจำนองย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์สินที่จำนอง
อย่างไรก็ตาม แม้การจำนองจะเป็นการประกันชำระหนี้ด้วยตัวทรัพย์ที่ทำให้ผู้รับจำนองรู้สึกมั่นใจว่าไม่ว่ากรณีใด ๆ เกิดขึ้น ตนก็ย่อมที่จะได้รับการชำระหนี้ แต่หากศึกษาให้ดีแล้วการจำนองนั้นก็มีข้อควรระวังอันผู้รับจำนองควรทำความเข้าใจ เช่น การเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินขาดอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบในเงินที่ขาดนั้น อีกทั้งการบังคับจำนองจะบังคับเอากับทรัพย์สินที่ได้จดทะเบียนจำนองเท่านั้น จะบังคับไปถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนองไม่ได้ จำนองเฉพาะที่ดินย่อมไม่ครอบถึงบ้านหรือโรงเรือนที่ปลูกภายหลัง นอกจากนี้ในการจำนองนั้นผู้รับจำนองจะต้องใช้ความระมัดระวังในการติดต่อกับเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของทรัพย์จำนองโดยตรง ควรที่จะตรวจสอบว่าทรัพย์จำนองนั้นมีอยู่จริง ตรงตามเอกสารที่จดทะเบียนหรือไม่ เพราะหากเกิดกรณีผู้จำนองนำทรัพย์ของผู้อื่นมาประกันชำระหนี้ แม้ว่าผู้รับจำนองจะสุจริตอย่างไร เจ้าของอันแท้จริงก็มีสิทธิที่จะติดตามเอาคืนได้ โดยไม่ต้องไถ่ถอน
สำนักข่าววิหคนิวส์