.
วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กรณียื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่า สภาพปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาญัตติที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอข้อความที่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองว่าจะทำได้หรือไม่
.
โดยไพบูลย์ระบุว่า สัปดาห์หน้ามีการพิจารณาเพียงญัตติเดียว คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งต้องยอมให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อน แต่หาก สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้มีการอ่านข้อความที่มีเนื้อหาต้องห้ามตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตนจะลุกขึ้นทักท้วง แต่ถ้านำเสนอและข้ามข้อความไปได้ก็จะไม่มีประเด็น แต่หากพูดถึงก็จะมี ส.ส. ทักท้วงจำนวนมาก ทำให้ใช้เวลานานพอสมควร และเรื่องนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเสนอญัตติลักษณะแบบนี้ จึงหวังว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะระมัดระวัง หลีกเลี่ยง และถือเป็นเรื่องดี และเป็นประโยชน์ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
.
เมื่อถามว่า เป็นเพียงการประท้วงยังไม่นำไปสู่การยื่นยุบพรรคใช่หรือไม่ ไพบูลย์กล่าวว่า การประท้วงเป็นจุดแรก แต่ถ้าท่านยังจะดำเนินการก็ถือว่าเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนก็เป็นห่วง เพราะสมพงษ์ก็มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรค และเรื่องนี้เป็นมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค ดังนั้น การยุบพรรคไทยรักษาชาติก็เป็นอุทาหรณ์ที่ดี
.
“ผมขอเรียนก่อน ผมเป็นผู้ยื่นคำร้องพรรคไทยรักษาชาติไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเหตุเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีขัดต่อระเบียบการหาเสียงของ กกต. เท่านั้น ยังเป็นเรื่องเลยมาถึงขนาดนี้ แต่กรณีนี้ผมท้วงว่าขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 กรณี กกต. ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้น ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านรวมทั้งผู้อภิปราย หากนำประเด็นต้องห้ามมาอภิปราย ผมว่าเป็นผลที่จะทำให้เรื่องไปสู่ศาล ซึ่งเรื่องดังกล่าวไปได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องไปด้วยญัตติของตน หากมีการอภิปรายด้วยข้อความต้องห้าม มั่นใจว่าเรื่องไปสู่ศาลแน่” ไพบูลย์กล่าว
.