ข่าวประจำวัน » รัฐบาล ฝนตกขี้หมูไหล คน… มาพบกัน !!

รัฐบาล ฝนตกขี้หมูไหล คน… มาพบกัน !!

4 September 2024
20   0

รัฐบาล ฝนตกขี้หมูไหล คน… มาพบกัน !!

    การกำเนิดของรัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในปี 2566 เป็นประเด็นที่ชวนให้เราต้องกลับมามองและสนใจปัญหา ‘รัฐบาลผสม’ ในการเมืองไทยอีกครั้ง แน่นอนว่าหนึ่งในคำถามประจำของความเป็นรัฐบาลผสมทั่วโลกคือ ปัญหาเอกภาพและความอยู่รอด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลจะอยู่ได้นานเท่าใด ปัญหาอีกด้านของความเป็นรัฐบาลผสมคือ การจัดคณะรัฐมนตรีดังที่ปรากฏนั้นสะท้อนให้เห็นอะไรในทางการเมือง และจะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองในอนาคต หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราจะเห็นปัญหาประการหนึ่งที่สำคัญในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมจนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลผสมคือความเป็นจริงของการเมืองไทย และอาจต้องยอมรับความจริงในอีกด้านว่า ธรรมชาติของการเมืองไทยไม่ใช่การเมืองใน ‘ระบบ 2 พรรค’ เช่นในแบบของอังกฤษและอเมริกา หากแต่การเมืองไทยเป็นแบบ ‘ระบบหลายพรรค’ (Multi-Party System) ดังนั้นโอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะชนะการเลือกตั้งแบบ ‘ถล่มทลาย’ จนนำไปสู่การจัดตั้ง ‘รัฐบาลแบบพรรคเดียว’ ได้นั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้โดยง่ายนัก ดังที่กล่าวแล้วว่า พื้นฐานการเมืองไทยเป็น ‘ระบบรัฐสภาแบบหลายพรรค’ ซึ่งความเป็นหลายพรรคเช่นนี้คือรากฐานของการกำเนิดความเป็นรัฐบาลผสมในตัวเอง ดังเช่นตัวแบบของระบบการเมืองในภาคพื้นทวีปของยุโรป 

        อย่างไรก็ตาม ถ้าเราลองสำรวจการเมืองของรัฐบาลผสม เราจะเห็นถึงความเปราะบาง    พรรคที่เข้ามาร่วมรัฐบาลผสมต่างผ่านการต่อสู้กันเองมาก่อนในการเลือกตั้ง ซึ่งภาวะของการแข่งขันเช่นนี้จึงมีความเป็น ‘ศัตรูในสนามเลือกตั้ง’ เพราะทุกพรรคล้วนต้องการให้ได้คะแนนมากที่สุด

การแข่งขันเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคต่างๆ ในสนามเลือกตั้ง และอาจกลายเป็นความขัดแย้งหลังเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะความต่างทางนโยบายและต่างมุมมองทางการเมืองในการแก้ปัญหาของประเทศ การขับเคลื่อนนโยบายอาจต้องเผชิญกับ ‘การแข่งขันทางด้านนโยบาย’ ระหว่างพรรคร่วม แม้จะเป็นความเป็นรัฐบาลเดียวกัน แต่ทุกพรรคต่างต้องการผลตอบแทนทางการเมืองสำหรับพรรคตน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในครั้งหน้า ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 2566 ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงอำนาจการต่อรองในความเป็นพรรคหลักอย่างมาก หลายฝ่ายมีมุมมองไม่แตกต่างกันว่า พรรคเพื่อไทยชนะด้วยเสียงที่มากกว่าพรรคร่วมอื่นๆ แต่กลับมีท่าทีแบบประนีประนอมอย่างมาก จนเสมือนอำนาจต่อรองทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยลดลง และเป็นดังอาการ ‘ศิโรราบ’ ทางการเมือง ด้วยความหวังที่จะต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลต่ออำนาจของพรรคแกนนำที่ลดลงเช่นนี้ จะเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยคือ ‘รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ’ ใช่หรือไม่ 

นาย ณรงค์ศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา

(รองหัวหน้าพรรค ไทยศรีวิไลย์)