เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #รายงานสกลนคร…!ฝายแกนดินซีเมนต์ แห่งแรก หนุนเกษตรกรปลูกถั่วลิสง !

#รายงานสกลนคร…!ฝายแกนดินซีเมนต์ แห่งแรก หนุนเกษตรกรปลูกถั่วลิสง !

3 March 2023
119   0

 

 

ช่วงบ่ายวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะเดินทางถึงสถานที่นัดหมาย ห้องประชุมได้จัดเตรียมอย่างเหมาะสม บรรยากาศราวกับนัดสังสรรค์สไตล์ ‘ดินเนอร์ทอล์ค’ รอบโต๊ะประชุม มีนายชยุต วงศ์วณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร นายสมศักดิ์ แป้นถนอม ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร นายกิตติ ไชยนิมิตร ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

หลังจากแนะนำใครเป็นใครพอเป็นพิธี นายสังศิตเริ่มเกริ่นนำทันทีถึงแนวทางการกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน “น้ำแก้จน ทุกคนมีน้ำ” ได้มีข้อเสนอแนะว่าการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ถ้าหากมีแนวทางใดที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ควรต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตร

อย่างคาดไม่ถึง !!? นายชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร มีความสนใจอย่างเฉียบพลัน ซักถามเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางในการดำเนินการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ พร้อมทั้งแนวทางในการเสนอโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำผ่านระบบ Thai Water Plan จน นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เชิญให้นายสุภัทรดิศ ราชธา และนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ อนุกรรมาธิการฯ อธิบายแบบประชิดตัว จนกระทั่ง นายกฯ อบจ.ปิ๊งไอเดียมองเห็นประโยชน์ของฝายแกนดินซีเมนต์ จึงแจ้งให้วงเสวนาเย็นวันนั้น (22 ก.พ. 2566) ทราบว่าวันประชุมพรุ่งนี้ (23 ก.พ.) ตนจะกล่าวถึงภาวะแล้งขาดน้ำในจังหวัสกลนครนอกเขตชลประทาน เราต้องเตรียมรับมือ และเห็นว่าฝายแกนดินซีเมนต์สามารถจะช่วยกักเก็บน้ำได้ ไม่เกินศักยภาพท้องถิ่น จะเชื้อเชิญให้ทุก อปท.ร่วมมือกัน ส่วน อบจ.จะลงพื้นที่สำรวจจุดสร้างฝายแกนดินซีเมนต์แห่งแรก นายสังศิต ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยินดีและขอชื่นชมการตัดสินใจของนายกฯ อบจ.ที่จะสร้างฝายแกนดินซีเมนต์เป็นแห่งแรกของจังหวัดสกลนคร ก่อนแยกย้ายราว 20.45 น.

ประธานคณะกรรมาธิการฯ เสนอว่า การเสวนาช่วงเช้าพรุ่งนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566) จะเริ่มด้วยการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างและประโยชน์ของฝายแกนดินซีเมนต์ แนวทางในการเตรียมความพร้อมของข้อมูลและเอกสารโครงการต่างๆ เพื่อเข้าสู่ระบบ Thai Water Plan และในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครจะนำคณะลงพื้นที่สำรวจจุดสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่เทศบาลตำบลบัวสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

รุ่งเช้าวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 9:30 นาฬิกา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้เข้าร่วมการเสวนาเรื่อง การกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน “น้ำแก้จน ทุกคนมีน้ำ” ณ ห้องพระธาตุเชิงชุม ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสกลนคร โดยมีการเชิญผู้เข้าร่วมการเสวนาประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำและที่ดิน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดสกลนคร

นายชยุต วงศ์วณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวต้อนรับคณะ และมอบให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รายงานสถานการณ์ทั่วไป ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดสกลนครที่สำคัญ สรุปดังนี้

‘สภาพทั่วไปของจังหวัดสกลนคร จังหวัดสกลนครมีพื้นที่ประมาณ 6 ล้านไร่ เป็นป่าไม้ประมาณ 1.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 18 มีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 3.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 50 มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 5,050 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่จังหวัดสกลนครอยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีลำน้ำหลักคือ แม่น้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ ลำน้ำพุง ลำน้ำอูน และลำน้ำยาม มีพื้นที่ชลประทาน 6.7 แสนไร่ มีการพัฒนาแหล่งน้ำ 316 โครงการ เก็บกักน้ำได้ 1,173 ล้านลูกบาศก์เมตร มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น โคขุน และข้าว’

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เริ่มด้วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ข้อสรุปว่าประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของจังหวัดสกลนคร เรียงลำดับดังนี้ 1) ปัญหาแหล่งน้ำไม่เพียงพอที่จะใช้เพื่อการเกษตรในหน้าแล้ง 2) ปัญหายาเสพติด 3) ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย และ 4) ปัญหาด้านเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน

ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวถึงปัญหาเรื่องน้ำว่า ‘ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีฝนตกชุกถึงปีละ 7.7 แสนล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่มีปัญหาคือไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ เพราะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพียงร้อยละ 5.5 เท่านั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงได้เสาะแสวงหาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่จะช่วยให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ให้ได้ในฤดูแล้งมากขึ้น’

‘เมื่อเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีน้ำอุปโภคบริโภคและใช้เพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี ก็จะทำให้เขาสามารถปลูกพืชผักทำการเกษตรได้ทั้งปี มีรายได้เพียงพอในการยังชีพสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ในที่สุด โดยนวัตกรรมที่ช่วยในการกักเก็บน้ำดังกล่าวคือ ฝายแกนดินซีเมนต์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่มากเพราะใช้ปูนซีเมนต์ผสมกับดินในอัตราส่วน 1 : 10 – 30 ฝายดังกล่าวสามารถสร้างได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และชะลอการไหลหลากของน้ำในฤดูฝน ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีความเข้าใจและมีความร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี จะทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ‘ตัวอย่างความสำเร็จของพื้นที่จังหวัดแพร่ที่มีการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์กั้นลำน้ำแม่หล่าย และลำน้ำยม โดยการดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้น ในเบื้องต้น อปท. แต่ละแห่งควรต้องพึ่งตนเองก่อนโดยหาทางดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเอง เพราะการรอโดยการตั้งโครงการของบประมาณจากส่วนกลางนั้น อาจจะเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่ทันกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน’

นายสังศิตกล่าวต่อว่า ‘ส่วนประเด็นเรื่องปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายนั้น ถ้าเกษตรกรมีน้ำใช้แล้ว ควรปลูกพืชแบบผสมผสานและไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาด ทางคณะกรรมาธิการฯ จะให้มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำเข้ามาประเมินตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย (EarthSafe Standard) เพื่อนำผลผลิตเข้าสู่ห้างร้านที่เป็นธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ขายผลิตผลทางการเกษตรได้ราคาดีขึ้นกว่าเดิมมาก ช่วยให้มีรายได้สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมมากพร้อมกันไป’

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ อนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารข้อมูลต่างๆ ในการทำโครงการเรื่องน้ำและการนำโครงการดังกล่าวเข้าสู่ระบบ Thai Water Plan โดยความพร้อมที่สำคัญ 3 ประการคือ 1) ความพร้อมของแบบ 2) ความพร้อมของแบบประมาณราคา ปร.4 ปร.5 และ 3) การขออนุมัติเจ้าของพื้นที่

จากการเสวนาดังกล่าว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครได้กล่าวสรุปว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครมีความยินดีที่จะหนุนเสริม อปท. ต่างๆ ในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ แต่ในขณะนี้ทาง อบจ.สกลนครยังขาดแคลนเครื่องจักร ซึ่งในเบื้องต้นจะประสานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 7 สกลนคร เพื่อขอการสนับสนุนด้านเครื่องจักร ซึ่งทาง อบจ.สกลนคร มีแผนที่จะสร้างฝายแกนดินซีเมนต์แห่งแรกเพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ของ อปท. ในพื้นที่จังหวัดสกลนครต่อไป

จากนั้นในช่วงบ่ายเวลา 13.30 นาฬิกา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ได้นำคณะกรรมาธิการลงพื้นที่สำรวจจุดที่ทาง อบจ.สกลนคร จะสร้างฝายแกนดินซีเมนต์แห่งแรกที่ห้วยคำเตย ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนทรายคำ หมู่ 7 ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม นายก อบจ. ให้ข้อมูลว่าหากมีน้ำเกษตรกรจะปลูกผักและถั่วลิสงซึ่งทางบริษัทโก๋แก่จะรับซื้อ’

สำหรับปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ ที่ดินทำกินประมาณ 10,000 ไร่ที่อยู่บริเวณหนองหาน ที่เทศบาลตำบล เหล่าปอแดง อำเภอเมือง ร้องเรียนขึ้นมานั้น นายสังศิตได้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกอบจ.และอปท. ในพื้นที่ดังกล่าว ตระเตรียมประเด็นเพื่อแก้ปัญหาในการประชุมในครั้งถัดไป

ส่วนหนองหานซึ่งเป็นพื้นที่ของทางราชการ นายสังศิตเห็นว่าบริบทด้าน เศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้นจึงสมควร ต้องหาทางเปลี่ยนแปลงให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชาวสกลนคร เพื่อสร้างงานและอาชีพให้คนในท้องถิ่นมากกว่าที่จะเป็นเพียงพื้นที่ของหน่วยราชการ เพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น

สุดท้ายนายสังศิต ยังรับปากที่จะไปที่อบต.อุ่มจาน อำเภอกุสุมาลซึ่งเป็นพื้นที่แล้งจัด และประชาชนขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง รวมทั้งมีความพร้อมด้านงบประมาณเพื่อไปสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในการลงพื้นที่คราวหน้าด้วย โดยนายสังศิต ให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามส่งเสริมให้พื้นที่แห้งแล้งแห่งนี้เป็นต้นแบบการแก้จนและเป็นพื้นที่นำร่องการเกษตรปลอดสารเคมีเด็ดขาด อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสกลนครด้วย

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

 

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

3 มีนาคม 2566